จรรยาบรรณ

บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ พีดีไอ ได้จัดทำจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจฉบับนี้ขึ้นใหม่โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้คณะกรรมการบริษัท ฝ่ายจัดการและพนักงานสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแนวทางที่ถูกต้อง ตามหลักจริยธรรมและได้รับความเชื่อถือ จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจฉบับนี้เสนอแนวปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างมีจริยธรรม เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ พันธกิจและค่านิยมองค์กร ตลอดจนเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียของพีดีไอ จึงเป็นความรับผิดชอบของพวกเราชาวพีดีไอทุกคนที่ต้องทำความเข้าใจ และยึดมั่นในหลักการของจรรยาบรรณฉบับนี้

ในสภาวะของการแข่งขันทางธุรกิจในโลกปัจจุบัน เรามักประสบกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ทดสอบการตัดสินใจ และความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสอยู่เสมอ ในฐานะพนักงานพีดีไอ ท่านควรใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ มีความระมัดระวัง และความรอบคอบในการปฏิบัติงานประจำวัน โดยยึดมั่นตามแนวทางปฏิบัติที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจฉบับนี้

สารจากกรรมการผู้จัดการ

พีดีไอเป็นบริษัทที่ได้รับการยอมรับว่ามีประวัติที่ดีในการบริหารกิจการได้อย่างยั่งยืนสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งพนักงาน คู่ค้าและลูกค้าของบริษัทฯ ตลอดจนผู้ถือหุ้นและสังคมโดยรวม

พวกเราที่พีดีไอเชื่อว่า ชื่อเสียงในด้านความซื่อตรงและซื่อสัตย์ของเราจะทำให้เราสามารถรักษาความสัมพันธ์อันดียิ่งกับผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ ไว้ได้ ความร่วมมือของทุกคนในบริษัทจึงมีส่วนสำคัญต่อการบรรลุผลตามพันธกิจของเรา

จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจฉบับนี้อธิบายถึงนโยบายและวิธีการที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจของพีดีไอที่พวกเราทุกคนตั้งแต่พนักงาน ผู้จัดการ ผู้บริหารและคณะกรรมการของบริษัทจะต้องทำความเข้าใจและรับหลักการต่างๆ ของจรรยาบรรณนี้ไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

หลักการเหล่านี้ไม่เพียงสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังรวบรวมแนวทางที่พวกเราสามารถนำค่านิยมองค์กรไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการทำงานและในชีวิตประจำวัน ค่านิยมองค์กรเป็นพื้นฐานสำคัญที่สนับสนุนจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจที่พีดีไอใช้เป็นเครื่องมือและช่วยทำให้มั่นใจว่า เราจะสามารถดำเนินกิจกรรมทุกอย่างได้ตามแนวทางที่ถูกต้อง

ผมขอสนับสนุนให้ทุกท่านได้อ่าน ถกเถียงและทำความเข้าใจกับจรรยาบรรณฉบับนี้อย่างจริงจัง หากท่านพบประเด็นปัญหาในการปฏิบัติตามกฎหมายหรือประเด็นปัญหาด้านจริยธรรม อย่าได้ลังเลที่จะขอคำแนะนำจากผู้บังคับบัญชาและผู้จัดการของท่าน รวมทั้งจากหน่วยงานกฎหมายหรือหน่วยงานตรวจสอบภายในของบริษัทฯ

ความสำเร็จของเราคือความสำเร็จของบุคลากร
บุคลากรคือผู้สร้างความแตกต่างให้แก่บริษัท

หมวดที่ 1 : คำแถลงและนิยามศัพท์

1.1 จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของพีดีไอ

จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของพีดีไอฉบับนี้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการประพฤติตนของพนักงานที่บริษัทฯ คาดหวัง โดยให้พนักงานปฏิบัติตามและใช้เป็นแนวทางในการจัดการกับสถานการณ์ทางธุรกิจเมื่อมีข้อสงสัยในเชิงจริยธรรมที่ยากต่อการตัดสินใจ

จรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของพีดีไอฉบับนี้พัฒนามาจากวิสัยทัศน์ พันธกิจและค่านิยมองค์กร โดยจัดทำขึ้นเพื่อเน้นย้ำถึงหลักการในการดำเนินธุรกิจของพีดีไอ และเพื่อให้มั่นใจว่าหุ้นส่วนทางธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งหมดจะเห็นด้วยกับสิ่งที่บริษัทฯ ให้คุณค่าและเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนเรา สิ่งสำคัญที่พึงตระหนักก็คือผู้ที่ฝ่าฝืนจรรยาบรรณฉบับนี้จะต้องได้รับโทษทางวินัยซึ่งอาจจะเป็นการเลิกจ้างงาน การฟ้องร้องในคดีอาญาหรืออาจจะได้รับโทษทั้งสองอย่าง

1.2 วิถีแห่งพีดีไอ : วิสัยทัศน์ พันธกิจและค่านิยมองค์กร

ที่พีดีไอ เราเชื่อว่าคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคตขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง สุขภาพที่ดีและการมีสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน ด้วยเหตุนี้พีดีไอจึงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจตามแนวทางที่มั่นคง ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยการปรับเปลี่ยนธุรกิจหลักของบริษัทฯ ไปสู่การเป็น“อุตสาหกรรมสีเขียว” ซึ่งยุทธศาสตร์ใหม่ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของเรานี้มีจุดเริ่มต้นมาจากหลักการใหญ่ 3 ประการดังต่อไปนี้:

- 1.2.1 วิสัยทัศน์

พีดีไอมีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่ธุรกิจเชิงนิเวศ ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการเรียนรู้และมุ่งมั่น พร้อมสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้กับลูกค้า สนับสนุนชุมชนและสังคม ให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นของเรา และให้ความเคารพต่อพนักงานและสิ่งแวดล้อม

- 1.2.2 ค่านิยมองค์กร

ค่านิยมหลักของพีดีไอตอบสนองวิสัยทัศน์องค์กรที่มุ่งสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจและสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้บริษัทฯ ค่านิยมเหล่านี้กลายมาเป็นรากฐานสำหรับการตัดสินใจทุกอย่างของเรา ซึ่งได้กำหนดไว้ในเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทฯ และเป็นแนวทางที่สอดรับกับมาตรฐานสากล ซึ่งสามารถตรวจสอบการกระทำและการปฏิบัติงานของเราได้ทั้งในภาพรวมของบริษัทและรายบุคคล องค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ ที่เป็นรากฐานของค่านิยมของบริษัทฯ ได้แก่:

1.2.2. ก ความโปร่งใส : เราจะดำเนินธุรกิจทั้งหมดอย่างถูกต้องชอบธรรม ซื่อสัตย์สุจริตและมีจริยธรรม ในการปฏิบัติงานทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ

1.2.2. ข พันธะสัญญา : เรามุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามข้อผูกพันของสัญญาและตามกฎหมาย มุ่งมั่นที่จะสร้างและยกระดับการรับรู้ถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญสูงสุดแก่การจัดการสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม

1.2.2. ค ความเป็นเลิศ : เราทุ่มเทให้กับการสร้างความเป็นเลิศในด้านการจัดการ ด้านผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพด้วยการแสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่อง และมุ่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบสนองสถานการณ์และเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

1.2.2. ง การทำงานร่วมกันเป็นทีม : เป้าหมายสูงสุดของเราคือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างเข้มแข็ง เราเชื่อมั่นในทีมงานและศักยภาพพนักงานของเรา ที่พีดีไอ เราพัฒนาการทำงานร่วมกันเป็นทีมโดยส่งเสริมพนักงานทุกคนให้เคารพบทบาทของแต่ละบุคคล ให้ความร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อบรรลุเป้าหมายองค์กรที่มีวัฒนธรรมการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

1.3 นิยามและอภิธานศัพท์

1.3.1  คำว่าจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจของพีดีไอ
จากนี้ไปจะเรียกว่า จรรยาบรรณ หมายถึง:
แนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมซึ่งระบุถึงมาตรฐานความประพฤติซึ่งเป็นที่ยอมรับและคาดหวังให้พนักงานทุกหน่วยงานของพีดีไอปฏิบัติตาม และนำมาเป็นกรอบในการตัดสินใจว่า ควรดำเนินการอย่างไรจึงจะเหมาะสมเมื่อต้องเผชิญหน้ากับประเด็นหรือปัญหาในเชิงจริยธรรมระหว่างการปฏิบัติงาน
1.3.2  คำว่า พีดีไอ และ บริษัทฯ หมายถึง:
บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)
1.3.3  คำว่า บริษัทในเครือ หมายถึง:
ก) บริษัทหรือนิติบุคคลที่บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าของทั้งหมดหรือที่บริษัทฯ ถือหุ้นและมีสิทธิออกเสียงมากกว่า 50% ของหุ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการถือหุ้นโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือ
ข) บริษัทหรือนิติบุคคลที่บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) มีอำนาจควบคุมและกำหนดนโยบายการเงินและนโยบายการปฏิบัติงาน
1.3.4  คำว่า คณะกรรมการบริษัท และ กรรมการบริษัท หมายถึง:
กรรมการของ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)
1.3.5  คำว่า พนักงาน หมายถึง:
บุคคลที่ได้รับการว่าจ้างตามสัญญาจ้างหรือให้จัดหาบริการพิเศษให้พีดีไอ
1.3.6  คำว่า ผู้ที่ติดต่อธุรกิจ หมายถึง:
บุคคลหรือนิติบุคคลที่พีดีไอดำเนินธุรกิจด้วยตามปกติ ซึ่งรวมถึงรัฐบาล องค์กรของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรภาคเอกชนและองค์กรที่ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณชน
1.3.7  คำว่า ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง:
บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพีดีไอ เช่น กรรมการบริษัท พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่สัญญา ผู้รับเหมา ผู้ที่ติดต่อธุรกิจ เจ้าหนี้ ลูกหนี้ สังคมทั่วไปและชุมชนท้องถิ่นที่พีดีไอดำเนินกิจการอยู่
หมวดที่ 2 การนำจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจไปปฏิบัติ

2.1 ขอบเขตและความรับผิดชอบ

จรรยาบรรณฉบับนี้กล่าวถึงความคาดหวังและหลักการที่ใช้เป็นแนวทางสำหรับการประพฤติตัวที่เหมาะสมในสถานที่ทำงานของพีดีไอ บริษัทฯ เชื่อในเรื่องของการเป็นองค์กรแบบบูรณาการ และเชื่อว่าพฤติกรรมของพนักงานทุกคนมีผลกระทบต่อองค์กรและชื่อเสียงทั้งหมดขององค์กร พนักงานทุกคนมีข้อผูกพันที่จะต้องพยายามทำงานให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ และต้องมีความรับผิดชอบในการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหรือการสูญเสียใดๆ ที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทฯ พีดีไอคาดหวังให้พนักงานทุกคนใช้จรรยาบรรณฉบับนี้เป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่และการดำเนินงานต่างๆ เพื่อรักษาความเชื่อมั่นที่สังคมมีต่อบริษัทฯ ตลอดจนเพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทฯ จะเติบโตและมีพัฒนาการที่ดีต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

จรรยาบรรณฉบับนี้มีขั้นตอนและมาตรการในการปฏิบัติงานต่างๆ ไว้ให้พนักงานทุกคนของพีดีไอปฎิบัติตาม (รวมทั้งพนักงานจ้างชั่วคราว) ตลอดจนพนักงานของบริษัทในเครือของพีดีไอและบุคคลหรือหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการในนามของพีดีไอ ในกรณีที่มีผู้ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณนี้ จะต้องรายงานเรื่องที่เกิดขึ้นให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และจะมีการประเมินผลว่าบริษัทฯ จะดำเนินการกับผู้ฝ่าฝืนอย่างไร

พนักงานแต่ละคนจะได้รับเอกสารคู่มือจรรยาบรรณคนละ 1 ฉบับ โดยฝ่ายบริหารจะต้องสนับสนุนให้มีการจัดอบรมจรรยาบรรณเป็นเรื่องหนึ่งในหลักสูตรฝึกอบรมพนักงาน รวมทั้งจะต้องส่งเสริมและติดตามว่าพนักงานได้ปฏิบัติงานตามจรรยาบรรณฉบับนี้หรือไม่

บริษัทฯ จะเผยแพร่และให้ข้อมูลเกี่ยวกับจรรยาบรรณฉบับนี้แก่พนักงานทุกคน ฝ่ายจัดการจะทบทวนจรรยาบรรณฉบับนี้เป็นประจำทุกปีเพื่อดูว่าจำเป็นจะต้องปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยขึ้นหรือไม่ และจะแจ้งข้อสรุปของฝ่ายจัดการให้คณะกรรมการตรวจสอบภายในทราบต่อไป

2.2 การฝ่าฝืนและการไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ

กรรมการบริษัท ผู้จัดการและพนักงานทุกคนที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายและแนวปฏิบัติทั้งหมดที่ระบุไว้ในจรรยาบรรณฉบับนี้อย่างเคร่งครัด พนักงานจะอ้างว่าไม่เคยได้รับทราบแนวทางเหล่านี้มาก่อนไม่ได้

นอกจากพนักงานจะต้องรับรู้และทำความเข้าใจจรรยาบรรณฉบับนี้แล้ว บริษัทฯ ยังต้องกระตุ้นให้มีการถกเถียงเกี่ยวกับจรรยาบรรณฉบับนี้โดยเปิดเผยอีกด้วย เนื่องจากไม่มีจรรยาบรรณหรือคู่มือใดที่จะสามารถตอบคำถามต่างๆ ได้ทั้งหมด ท้ายที่สุดแล้วพนักงานจะต้องอาศัยสามัญสำนึกของตนเองในการปฏิบัติตนตามมาตรฐานขั้นสูงที่บริษัทฯ กำหนดไว้ให้ได้ ซึ่งรวมถึงการที่พนักงานต้องรู้ว่าเมื่อไรที่ตนควรจะปรึกษาผู้บังคับบัญชา ผู้จัดการ หน่วยงานกฎหมายและ/หรือเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของบริษัทฯ เพื่อหาแนวทางในการดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป

บริษัทฯ จะไม่ยอมให้มีการจงใจไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณฉบับนี้เกิดขึ้นเป็นอันขาด การกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่การลงโทษทางวินัย การไล่ออกหรือดำเนินคดีทางอาญาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ จะทบทวนและพิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้นแต่ละกรณีอย่างเป็นกลาง

2.3 การรายงานข้อกังวลและการยื่นข้อร้องเรียน

บริษัทฯ จะจัดให้มีการบันทึกการประพฤติผิดหรือการไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณที่เกิดขึ้นทั้งหมดไว้ เพื่อรายงานให้ฝ่ายบริหารทราบตามลำดับสายการบังคับบัญชา ตลอดจนแจ้งผ่านฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัท โดยเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบจะได้รับรายงานในขั้นสุดท้ายและคำเสนอแนะถึงวิธีตัดสินผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณ

2.4 การรับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน

2.4.1 พนักงานอาจแจ้งความเดือดร้อนหรือข้อคับข้องใจของตนเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการและจรรยาบรรณฉบับนี้ไปยังเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับข้อร้องเรียนดังกล่าว

2.4.2 พนักงานที่ประสงค์จะรายงานหรือยื่นข้อร้องเรียนสามารถติดต่อผ่านอีเมล์ไปยังเลขานุการหรือประธานคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ

2.4.3 ผู้จัดการทุกระดับและฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องแจ้งให้เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบทราบในทันทีที่ได้รับข้อร้องเรียนที่มีผู้เสนอมาโดยตรง

หมวดที่ 3 : หลักการที่ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามจรรยาบรรณการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของพีดีไอ

การเลือกปฏิบัติหรือคุกคามผู้ที่รายงานการฝ่าฝืนกฎหมายหรือนโยบายของพีดีไอถือเป็นพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนจรรยาบรรณฉบับนี้ด้วย และผู้ที่รายงานข้อมูลเท็จด้วยความตั้งใจเพื่อคุกคามผู้อื่นจะถูกลงโทษทางวินัย

3.1 พันธกิจส่วนบุคคล

บริษัทฯ คาดหวังให้พนักงานและตัวแทนของพีดีไอดำเนินธุรกิจและปฏิบัติตนต่อหุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อนร่วมงานและผู้มีส่วนได้เสียอย่างเหมาะสม ซึ่งรวมถึงการยอมรับและเคารพวัฒนธรรมประเพณีที่แตกต่างด้วย

ที่พีดีไอ เราไม่ยอมรับการคุกคาม การเลือกปฏิบัติหรือการแสดงพฤติกรรมอื่นๆ ที่เพื่อนร่วมงาน หุ้นส่วนทางธุรกิจหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจหรือต่ำช้า

3.2 ความเท่าเทียมทางโอกาสและความหลากหลาย

พีดีไอสนับสนุนให้มีความหลากหลายในกลุ่มพนักงานรวมทั้งมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เปิดโอกาสให้พนักงานแต่ละคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมและมีส่วนร่วมในการสร้างความสำเร็จให้แก่พีดีไอ บริษัทฯ ยอมรับและตระหนักดีว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีความแตกต่างและมีคุณค่าในตัวเอง ดังนั้นเราจึงควรเคารพความสามารถของแต่ละบุคคล บริษัทฯ มีนโยบายการจ้างงานที่ไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงานในทุกสถานที่ที่พีดีไอประกอบกิจการอยู่ รวมทั้งให้โอกาสที่เท่าเทียมกันในการจ้างงาน กล่าวคือจะไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หนึ่งผู้ใดเนื่องจากความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว ถิ่นกำเนิด สัญชาติ อายุ เพศ เพศสภาพ การแสดงออกทางเพศ ลักษณะทางพันธุกรรม ความพิการ การเป็นทหารผ่านศึก ความคิดเห็นทางการเมือง รสนิยมทางเพศ รวมทั้งการเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกของกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

3.3 สารเสพติดและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

พีดีไอห้ามการใช้ ครอบครอง แจกจ่าย ซื้อหรือขายสารควบคุมต่างๆ ในสถานที่ของบริษัทฯ ระหว่างที่บุคคลนั้นดำเนินงานทางธุรกิจให้แก่บริษัทฯ หรือระหว่างที่ปฏิบัติงานกับอุปกรณ์ของบริษัท โดยสารควบคุมดังกล่าว ได้แก่: ยาที่ผิดกฎหมายและยาเสพติด ยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ซึ่งได้มาหรือใช้โดยไม่มีใบสั่งแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายรวมทั้งสารหรือวัสดุผิดกฎหมายอื่นๆ

ห้ามบุคคลที่ดื่มสุราเข้ามาในสถานที่ของบริษัทฯ หรือดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หรือควบคุมอุปกรณ์ของบริษัทฯ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตล่วงหน้าจากฝ่ายจัดการเป็นกรณีพิเศษ เช่น งานเลี้ยงอย่างเป็นทางการที่บริษัทฯ จัดขึ้น บริษัทฯ อาจจะจัดให้มีการตรวจหาและทดสอบว่าพนักงานมีการใช้ยาเสพติดหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่หากกฎหมายอนุญาตให้ทำได้

บริษัทฯ จะไม่เข้าไปควบคุมการปฏิบัติตนในชีวิตส่วนตัวของพนักงานนอกเวลางาน อย่างไรก็ดี บริษัทฯ จะดำเนินการกับพนักงานที่มีพฤติกรรมผิดกฎหมาย พฤติกรรมต่อต้านสังคมหรือพฤติกรรมอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงหรือสถานะของบริษัทฯ ได้ โดยจะใช้กระบวนการทางวินัยของบริษัทฯ เข้าไปจัดการ

3.4 การป้องกันความรุนแรงและการคุกคาม

พีดีไอห้ามใช้ความรุนแรงหรือขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงใดๆ กับเพื่อนร่วมงาน หรือผู้มีส่วนได้เสียหรือบุคคลอื่นที่อยู่ในสถานที่ของบริษัทฯ หรือผู้ที่มาติดต่อกับพนักงานของบริษัทฯ ตามหน้าที่ การขู่ว่าจะใช้ความรุนแรงถือเป็นเรื่องร้ายแรงที่ควรรายงานให้ทราบในทันที

3.5 สิทธิมนุษยชน

ความหมายทั่วไปของสิทธิมนุษยชน ได้แก่ มาตรฐานพื้นฐานการปฏิบัติต่อบุคคลอื่นที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ เพศ เชื้อชาติ สถานะทางเศรษฐกิจหรือศาสนา

พีดีไอทุ่มเทให้กับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยสนับสนุนให้พนักงานทั้งองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียของบริษัททั้งหมดเคารพในสิทธิมนุษยชน บริษัทฯ ตระหนักถึงความรับผิดชอบขององค์กรที่จะต้องเคารพสิทธิมนุษยชนและเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องดังกล่าวให้แก่ชุมชนที่บริษัทฯ ประกอบธุรกิจอยู่ ด้วยเหตุนี้พีดีไอจึงได้จัดทำนโยบายสิทธิมนุษยชนที่ให้ความสำคัญกับผู้เกี่ยวข้อง ดังนี้:

3.5.1 การปฏิบัติตามกฎหมาย : บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตามคำประกาศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติและคำประกาศขององค์การแรงงานระหว่างประเทศเกี่ยวกับหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน เสรีภาพในการเข้าร่วมกลุ่มและการต่อรองระดับกลุ่ม การไม่เลือกปฏิบัติ แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก

3.5.2 พนักงาน : บริษัทฯ ปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนด้วยความเคารพ คำนึงถึงศักดิ์ศรีรวมทั้งความหลากหลายของพนักงาน และจะไม่ยอมให้มีการเลือกปฏิบัติอย่างสิ้นเชิง (zero tolerance) ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติบนพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับโดยไม่คำนึงถึงอายุ เชื้อชาติ ศาสนา ความพิการ เพศหรือรสนิยมทางเพศ รวมถึงการห้ามใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับทุกประเภท

บริษัทฯ ให้ความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลโดยจะไม่ดำเนินการใดๆกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่จะมีการบังคับใช้กฎหมายหรือเหตุผลทางจริยธรรมอย่างมีนัยสำคัญที่จะทำเช่นนั้น

3.5.3 ความปลอดภัย : บริษัทฯ ปกป้องพนักงานและทรัพย์สินของพนักงานโดยจัดหาสถานที่ทำงานที่มั่นคงและปลอดภัย จัดให้มีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ของโครงการใหญ่ รวมทั้งประเมินกระบวนการทำงานที่มีอยู่ซึ่งอาจมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย

3.5.4 ชุมชน : บริษัทฯ ส่งเสริมให้มีการสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในลักษณะของการสื่อสารสองทางในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง และมุ่งส่งเสริมการพัฒนาด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจในชุมชนที่บริษัทฯ ดำเนินการอยู่

3.5.5 ลูกค้าและผู้จัดหา : บริษัทฯ คัดเลือกหุ้นส่วน ผู้จัดหาและลูกค้าโดยคำนึงถึงวิธีการที่บริษัทเหล่านี้ปฏิบัติต่อพนักงานของตน รวมทั้งวิธีการที่บริษัทเหล่านี้ใช้ติดต่อกับชุมชนว่าสอดคล้องกับนโยบายสิทธิมนุษยชนของพีดีไอหรือไม่ พีดีไอต้องการให้ผู้จัดหาของบริษัทฯ ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และปฏิบัติตามหลักการด้านแรงงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

นอกจากการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบด้านสิทธิมนุษยชนในระดับประเทศและนานาประเทศแล้ว พีดีไอยังมุ่งมั่นที่จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสิทธิมนุษยชนในชุมชนที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่ โดยฝ่ายจัดการเป็นผู้นำในการส่งเสริมนโยบายสิทธิมนุษยชนของพีดีไอและสื่อสารกับพนักงานรวมทั้งจัดการกระบวนการต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายนี้ด้วย

3.6 การต่อต้านการคอรัปชั่น

พีดีไอจะประกอบธุรกิจทุกประเภทด้วยความซื่อสัตย์และมีจริยธรรม ภายใต้นโยบายไม่สนับสนุนการให้สินบนและคอร์รัปชั่นโดยสิ้นเชิง นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีนโยบายที่จะดำเนินธุรกิจอย่างมืออาชีพ เป็นธรรมและซื่อตรง พีดีไอจะนำระบบงานที่มีประสิทธิภาพมาใช้บังคับเพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการให้สินบน

ผลประโยชน์ทับซ้อนและความซื่อสัตย์

3.6.1  ทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน : ผลประโยชน์ทับซ้อนอาจเกิดขึ้นได้เมื่อบุคคลมีกิจกรรมภายนอกบริษัท หรือมีผลประโยชน์ส่วนตัวที่ขัดแย้งหรือดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกับความรับผิดชอบในหน้าที่การงานที่ทำให้พีดีไอ กิจกรรมภายนอกบริษัทบางอย่างอาจจัดเป็นกิจกรรมที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนได้หากกิจกรรมนั้น:

ก) มีผลกระทบด้านลบต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของพีดีไอ
ข) มีผลกระทบด้านลบต่อชื่อเสียงหรือความสัมพันธ์ของพีดีไอกับผู้อื่น
ค) มีส่วนขัดขวางต่อการใช้วิจารณญาณของบุคคลในการปฏิบัติหน้าที่การงาน

พนักงานและกรรมการบริษัท รวมทั้งญาติใกล้ชิดของพนักงานและกรรมการบริษัทต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือพยายามที่จะ:

ก) แข่งขันกับบริษัทฯ
ข) ใช้ตำแหน่งหรืออิทธิพลของตนเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์โดยมิชอบ
สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
ค) ใช้ข้อมูล ทรัพย์สินหรือทรัพยากรของบริษัทฯ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือ
เพื่อหาผลประโยชน์อันมิชอบให้แก่ผู้อื่น
ง) นำข้อมูลภายในหรือตำแหน่งในบริษัทฯ ไปใช้แสวงประโยชน์

หากท่านรู้ว่ามีความเป็นไปได้ที่ท่านจะมีผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัทฯ ท่านจะต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาโดยตรงของท่าน หน่วยงานกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของบริษัทฯ ในทันที สำหรับการปฏิบัติงานหรือความรับผิดชอบในเรื่องที่มีความอ่อนไหว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องประเมินกระบวนการสำหรับระบุผลประโยชน์ขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้

3.6.2  การรับหรือให้สินบน ของขวัญ ค่าใช้จ่าย ความช่วยเหลือหรือความได้เปรียบอื่นๆ : สำหรับพนักงานหรือกรรมการบริษัท การให้หรือรับของขวัญและการเลี้ยงรับรองทางธุรกิจที่แม้จะมีมูลค่าเพียงเล็กน้อย การให้หรือรับเงินสดไม่ว่าจะจำนวนเท่าไรก็ตามจากบุคคลหรือบริษัทที่กำลังทำธุรกิจอยู่หรือกำลังหาทางทำธุรกิจกับพีดีไอล้วนจัดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งสิ้น ท่านไม่ได้รับอนุญาตให้:

ก) รับค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนเพื่อแลกกับการให้บริการในนามของบริษัทฯ
ข) จัดหาหรือรับของขวัญหรืองานเลี้ยงรับรองทางธุรกิจจากใครก็ตามที่กำลังทำธุรกิจ
หรือหาทางจะทำธุรกิจกับพีดีไอ หรือกับบริษัทในเครือของพีดีไอ
ค) ให้ของขวัญหรืองานเลี้ยงรับรองทางธุรกิจแก่บุคคลใดเพื่อสร้างอิทธิพลโน้มน้าวไป
ในทางที่มิชอบเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการอันเป็นประโยชน์ต่อพีดีไอ
หรือต่อกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่อธุรกิจ

หากท่านได้รับข้อเสนอ ถูกกดดันหรือรู้สึกว่ากำลังถูกกดดันให้มอบผลประโยชน์ที่มีมูลค่ามากกว่าของขวัญเล็กน้อยที่ท่านได้รับจากบุคคลอื่น ท่านต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาโดยตรงของท่าน หน่วยงานกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของบริษัททราบในทันที

3.6.3  ผลประโยชน์ด้านการเงินในธุรกิจอื่น : ในฐานะพนักงานหรือกรรมการบริษัท ท่านและสมาชิกใกล้ชิดในครอบครัวต้องหลีกเลี่ยงการเข้าไปเป็นเจ้าของหรือมีผลประโยชน์ส่วนตัวทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม (ไม่ว่าจะในฐานะผู้ลงทุน ผู้ให้กู้ยืม พนักงานหรือผู้จัดหาบริการ) ในธุรกิจอื่น เพราะการกระทำเช่นนั้นอาจถือเป็นการประนีประนอมหรือดูเหมือนว่าจะขัดต่อความจงรักภักดีที่ท่านควรมีต่อบริษัท ท่านต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อผลประโยชน์ทับซ้อนประเภทต่างๆ ที่ระบุไว้ในข้อ 3.6.1 ทุกกรณี

3.6.4  การร่วมกิจกรรมที่มีคู่แข่ง ผู้จัดหาหรือผู้มีความเกี่ยวข้องทางธุรกิจรายอื่นๆ ก่อนจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมใดๆ ที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการส่งเสริมผลประโยชน์ให้กับคู่แข่ง ผู้จัดหาหรือหุ้นส่วนทางธุรกิจรายอื่นโดยพีดีไอเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ ทั้งนี้หมายรวมถึงการเป็นกรรมการของบริษัทหรือองค์กร ท่านควรปรึกษาผู้บังคับบัญชาโดยตรง หน่วยงานกฎหมายหรือเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในของบริษัทในทันที ท่านต้องไม่นำผลิตภัณฑ์หรือบริการของท่านไปทำการตลาดในลักษณะที่เป็นการแข่งขันกับกิจกรรมทางธุรกิจหรือผลประโยชน์โดยรวมของพีดีไอ

3.6.5  การเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐและการเมือง : พฤติกรรมของบริษัทฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐและกิจกรรมการเมืองสามารถส่งผลถึงชื่อเสียง การดำเนินธุรกิจและความสามารถในการทำงานกับข้าราชการและผู้มีส่วนได้เสียรายอื่นๆ ได้ความสัมพันธ์ที่ท่านมีกับหน่วยงานของรัฐหรือกับตัวแทนของหน่วยงานนั้นๆ จะต้องไม่เป็นความสัมพันธ์ที่มีขึ้นเพื่อชักจูงให้รัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใดๆ ที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม บริษัทฯ ยอมรับได้หากเป็นการทำความรู้จักกับบุคคลเหล่านี้และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันตามปกติ

3.6.6  การปกป้องข้อมูลและทรัพย์สิน: พนักงานของพีดีไอ ผู้มีส่วนได้เสียและหุ้นส่วนทางธุรกิจมีข้อผูกพันในการนำข้อมูลและทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปใช้โดยต้องแน่ใจว่าข้อมูลได้ถูกนำไปใช้อย่างชาญฉลาดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจะไม่มีการนำข้อมูลและทรัพย์สินของบริษัทฯ ไปใช้อย่างเสียเปล่าหรือเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง นิยามของทรัพย์สิน คือ สังหาริมทรัพย์เช่นอุปกรณ์สำนักงาน เครื่องมือและเครื่องจักร และอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินและอาคาร นอกจากนี้ยังหมายถึง

เทคโนโลยี ความรู้ด้านเทคนิค เอกสารที่มีลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญาและข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจ ห้ามใช้ทรัพย์สินของพีดีไอเพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทฯ โดยตรงก่อนได้รับอนุญาต ซึ่งรวมถึงห้ามเคลื่อนย้ายหรือหยิบยืมทรัพย์สินของพีดีไอไปโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

3.7 สิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยของชุมชนและสังคม

พีดีไอดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการปกป้องสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน ตลอดจนชุมชนท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ พนักงานทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามนโยบายของบริษัทฯ กฎหมายและกฎระเบียบของรัฐที่เกี่ยวข้อง บริษัทฯ มีอำนาจและความรับผิดชอบที่จะต้องป้องกันการทำงานหรือการกระทำของพนักงานอย่างเข้มแข็ง หากการดำเนินงานนั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของพนักงาน ต่อชุมชนท้องถิ่นหรือต่อสิ่งแวดล้อม

3.8 การปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบและข้อกำหนด

พนักงานและกรรมการบริษัทของพีดีไอต้องดำเนินธุรกิจโดยปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง พนักงานต้องไม่ให้ความช่วยเหลือหรือมีส่วนในการฝ่าฝืนกฎหมายหรือการกระทำผิดกฎหมายของหุ้นส่วนทางธุรกิจ ไม่ว่าจะทำไปเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ หรือของตนเองก็ตาม บริษัทฯ มีความรับผิดชอบที่จะต้องศึกษาค้นคว้าให้เข้าใจกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างถ่องแท้และพอเพียงกับการดำเนินธุรกิจของตนได้เป็นอย่างดี

3.8.1 การป้องกันการผูกขาดและการแข่งขัน: บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการผูกขาด รวมทั้งทำการค้าอย่างมีจรรยาบรรณ มีการแข่งขันอย่างยุติธรรมและทำตามกฎหมายควบคุมการแข่งขันทางการค้าที่มีอยู่ในพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่

3.8.2 การค้าที่อาศัยข้อมูลภายใน: พนักงาน ผู้จัดการและกรรมการบริษัทต้องละเว้นจากการทำการค้าหรือการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของพีดีไอหรือของบริษัทอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯโดยใช้ข้อมูลภายในที่มิได้เปิดเผยต่อสาธารณะซึ่งได้มาจากงานที่ทำให้หรือการทำงานกับพีดีไอ

3.8.3 บันทึกธุรกิจและการควบคุมภายใน: บริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจทุกประเภทอย่างโปร่งใส ถูกต้องและเป็นไปตามข้อผูกพันในการรักษาความลับของบริษัทฯ มีการจัดหาเอกสารสนับสนุนสำหรับการทำบัญชี บัญชีการเงินและบันทึกธุรกิจทั้งหมดของพีดีไอไว้อย่างเพียงพอ สามารถทำบันทึกการค้าขายแต่ละครั้งได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง สมบูรณ์และตรวจสอบได้ นอกจากนี้การควบคุมภายในที่น่าเชื่อถือจัดเป็นปัจจัยสำคัญในการทำบัญชีและรายงานทางการเงินที่เหมาะสม ครบถ้วนและถูกต้อง บริษัทฯ สนับสนุนให้พนักงานทุกคนรายงานข้อสงสัยหากพบว่ามาตรการควบคุมที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอที่จะค้นพบหรือป้องกันความคลาดเคลื่อน สูญเสียหรือการทุจริตข้อมูลได้

3.8.4 การตรวจสอบ: การตรวจสอบโดยผู้ตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกของพีดีไอจะช่วยทำให้แน่ใจได้ว่า มีการปฏิบัติตามนโยบาย ขั้นตอนการปฏิบัติงานและการควบคุมที่กำหนดไว้แล้ว บริษัทฯ จะต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการตรวจสอบทั้งภายในและภายนอกบริษัทฯ โดยจัดหาข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นจริง รวมทั้งให้ความร่วมมือตลอดกระบวนการตรวจสอบ

3.9 การตอบข้อซักถามจากสื่อมวลชน รัฐบาล ชุมชนและหน่วยงานอื่น

ข้อมูลโดยรวมของพีดีไอทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศเป็นผลมาจากความสามารถของบริษัทฯ ในการสื่อสารกับบุคคลภายนอกและสื่อต่างๆ อย่างสม่ำเสมอและอย่างมืออาชีพ

3.9.1 บริษัทฯ มอบหมายให้กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ติดต่อหลักในการเปิดเผยข้อมูลและตอบคำถามจากผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัท สื่อมวลชนและบุคคลที่สาม พนักงานอื่นอาจจะให้ข้อมูลเหล่านั้นได้หากได้รับอนุญาตอย่างชัดเจนจากกรรมการผู้จัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมการผู้จัดการได้มอบหมายให้หน่วยงานนักลงทุนสัมพันธ์เป็นผู้ติดต่อกับผู้ถือหุ้น ผู้จัดการกองทุน นักลงทุนและสถาบันการเงินอย่างเป็นทางการ ตลอดจนมอบหมายให้หน่วยงานสื่อสารของบริษัทเป็นผู้ติดต่ออย่างเป็นทางการกับสื่อมวลชน เลขานุการคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบในการให้ข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) รวมทั้งเป็นผู้รับผิดชอบในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของผู้ถือหุ้น (เช่น ในการประชุมสามัญประจำปี การจ่ายเงินปันผล ฯลฯ)

3.9.2 บริษัทฯ จะปฏิบัติต่อสื่อมวลชน นักวิเคราะห์และนักลงทุนตลอดจนสังคมโดยรวมตามหลักการด้านความโปร่งใส ความซื่อสัตย์และการตอบสนองที่เหมาะสมในการติดต่อกับบุคคลภายนอกที่ให้ความสนใจต่อบริษัทฯ พนักงานที่ได้รับมอบอำนาจทั้งหมดจะต้องเคารพต่อหลักการเหล่านี้ในการสื่อสารกับบุคลภายนอกด้วย

3.9.3 พนักงานทั้งหมดของพีดีไอถูกห้ามการใช้ข้อมูลของบริษัทฯ ไปในทางที่ผิด (เข้าถึงข้อมูลที่ไม่ได้รับอนุญาต ใช้ข้อมูลภายในและซื้อขายหุ้นของบริษัทฯ หรือของบริษัทอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน)

3.9.4 พนักงานของพีดีไอจะต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองหรือผู้อื่น โดยใช้หรือทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่ามีการใช้ข้อมูลของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงการซื้อหรือขายหุ้นก่อนบริษัทฯ จะประกาศผลการดำเนินงานหรือนำข้อมูลไปใช้ในกรณีอื่นๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อราคาหุ้นของบริษัทฯ ต่อการซื้อหรือขายที่ดินของบริษัทฯ หรือต่อการลงทุนในธุรกิจที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานที่ที่บริษัทฯ กำลังจะตั้งหรือขยายงาน

3.9.5 พนักงานของบริษัทฯ ไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลทางการเงินให้แก่บุคคลภายนอกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากฝ่ายบริหาร เว้นแต่เมื่อมีกฎหมายหรือกฎระเบียบบังคับให้ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้น บุคคลภายนอก ได้แก่ บุคคลที่ไม่ได้รับเงินเดือนจากบริษัทฯ ไม่ว่าจะมีความสัมพันธ์กับบริษัทฯ อย่างไร ซึ่งรวมถึงกรรมการบริษัทที่ไม่ใช่กรรมการบริหาร และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ด้วย

3.10 การรักษาชื่อเสียงของบริษัท

พนักงานของพีดีไอต้องหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อชื่อเสียงของบริษัทและควรรักษาชื่อเสียงอันดีของ บริษัทฯ ในสังคมและในชุมชนที่บริษัทฯ ตั้งอยู่

3.11 การใช้สิทธิทางการเมือง

พนักงานของพีดีไอมีสิทธิส่วนบุคคลในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองรูปแบบต่างๆ เช่น สิทธิในการลงคะแนนเสียงหรือการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง อย่างไรก็ดีพนักงานต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่ขัดแย้งกับการรักษาความเป็นกลางทางการเมืองของบริษัทฯ เช่น การเข้าเป็นสมาชิกในคณะกรรมการบริหารของพรรคการเมือง การสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดคนหนึ่งอย่างออกนอกหน้าหรือการหาทางเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง

3.12 การทำงานพิเศษนอกเวลางาน (การปฏิบัติตนและการเข้าร่วมกิจกรรม
นอกบริษัทฯ)

พีดีไอคาดหวังให้พนักงานทุ่มเทความพยายามในการทำงานให้กับบริษัทฯ อย่างเต็มเวลา อย่างไรก็ดี ในกรณีที่พนักงานพบว่าตนจำเป็นต้องเข้าร่วมปฏิบัติงาน กิจกรรมหรืองานอื่นนอกบริษัทฯ พนักงานสามารถทำได้ในกรณีดังต่อไปนี้:

3.12.1 ไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมายหรือขัดกับบรรทัดฐานที่สังคมทั่วไปยอมรับ

3.12.2 ไม่ใช่การกระทำที่อาจสร้างความเสื่อมเสียให้กับบริษัทฯ หรือธุรกิจของบริษัทฯ

3.12.3 ไม่ใช่การกระทำที่จัดขึ้นในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของบริษัทฯ

3.12.4 ไม่ใช่การกระทำในระหว่างชั่วโมงทำงาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ทำได้และกิจกรรมนั้นๆ จะไม่มีผลกระทบด้านลบต่อการทำงานของพนักงาน

3.13 ไม่มีการมอบสิทธิ

ข้อความในจรรยาบรรณฉบับนี้ระบุหลักการพื้นฐาน นโยบายและขั้นตอนการปฏิบัติงานของพีดีไอที่พนักงานและกรรมการบริษัทจะต้องปฏิบัติตาม โดยไม่ถือว่าเป็นการมอบสิทธิใดๆ แก่ลูกค้า ผู้จัดหา คู่แข่ง ผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสีย บุคคลหรือหน่วยงานต่างๆ

ภาคผนวก