รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น

รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560

ประชุมเมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2560 เวลา 14.00 น. ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เลขที่ 60 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

ดร. สุรินทร์ ตันติเจริญเกียรติ เลขานุการบริษัท ในฐานะเลขานุการการประชุมผู้ถือหุ้น ได้แนะนำคณะกรรมการบริษัท และผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุมดังนี้

กรรมการที่เข้าประชุม

1. นายอาสา สารสินประธานกรรมการ - ประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้น
2. นายฟรานซิส แวนเบลเลนกรรมการผู้จัดการ และ กรรมการบริหาร
3. นายสดาวุธ เตชะอุบลกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร
4. นายทอมมี่ เตชะอุบลกรรมการ กรรมการบริหาร และ
กรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน
5. นายวินัย วามวาณิชย์กรรมการอิสระ กรรมการบริหาร และ
ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ
6. นายอัศวิน คงสิริกรรมการอิสระ กรรมการตรวจสอบ กรรมการบริหาร และ
ประธานคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน
7. นายพินิต วงศ์มาศากรรมการอิสระ และกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน
8. ดร.คุรุจิต นาครทรรพกรรมการอิสระ
กรรมการที่ไม่ได้เข้าประชุม
1. นางสาวประภา ปูรณโชติกรรมการและกรรมการบริหาร
2. นางสาววิมล ชาตะมีนากรรมการ
3. นายคาเรล วินค์กรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ
ผู้เข้าร่วมประชุม
1. นางวรทิพย์ ฤกษ์พิบูลย์ผู้อำนวยการ - การเงิน
2. ดร. สุรินทร์ ตันติเจริญเกียรติเลขานุการบริษัท - เลขานุการที่ประชุมผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารของบริษัทฯ ที่อยู่ด้านหน้าเวทีพร้อมที่จะชี้แจงและให้ข้อมูลในกรณีที่มีข้อ สอบถามที่เกี่ยวข้อง

ดร. สุรินทร์ ตันติเจริญเกียรติ เลขานุการบริษัท ได้รายงานว่ามีผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง และโดยการมอบฉันทะมาประชุมรวม 308 ราย จากจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 5,586 ราย นับจำนวนหุ้นได้ 113,894,641 หุ้น จากจำนวนหุ้นจดทะเบียนที่เรียกชำระแล้ว 226,000,000 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 50.3959 ซึ่งเกินกว่าหนึ่งในสามของจำนวนหุ้นของบริษัทฯ ครบเป็นองค์ประชุมตามข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อที่ 32 แล้ว

ต่อจากนั้นได้แนะนำตัวแทนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตจากบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด คือ คุณชนกพร เจริญสุทธิโยธิน และคุณพสุ คณานุวัฒน์

นอกจากนี้ได้แนะนำคุณณัฐกานต์ ศรีอินทร์ ให้เกียรติมาเป็นสักขีพยานในการนับคะแนนเสียงแต่ละวาระของบริษัทฯ ด้วย

และก่อนเริ่มวาระการประชุมเลขานุการบริษัทได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีนี้ บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอเพิ่มวาระการประชุม และเสนอชื่อบุคคลผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการในช่วงระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ผ่านระบบข่าวของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเผยแพร่หลักเกณฑ์การดำเนินการดังกล่าว บนเว็บไซต์ของบริษัทฯ ซึ่งปรากฏว่าไม่มีผู้ถือหุ้นท่านใดเสนอเพิ่มวาระหรือเพิ่มชื่อกรรมการแต่อย่างใด

ต่อจากนั้นได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการประชุมและวิธีการออกเสียงลงคะแนนแก่ผู้ถือหุ้นดังนี้

การนับคะแนนและการออกเสียง

“ตามข้อบังคับของบริษัท ข้อ 34 การออกเสียงลงคะแนนในวาระต่างๆ ผู้ถือหุ้น และผู้รับมอบฉันทะ มีคะแนนเสียงหนึ่งเสียงต่อหนึ่งหุ้น

ในการลงคะแนนเสียงแต่ละวาระซึ่งใช้วิธีชูมือนั้น ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ให้กรอกความประสงค์ที่ไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียงลงในบัตรยืนยันการลงคะแนนพร้อมทั้งลงลายมือชื่อ ในบัตร และเจ้าหน้าที่บริษัทจะเก็บบัตรยืนยันการลงคะแนนเฉพาะไม่เห็นด้วยและงดออกเสียง โดยจะไม่เก็บบัตรสำหรับกรณีเห็นด้วย ยกเว้นวาระที่ 6 การแต่งตั้งกรรมการ จะเก็บบัตรยืนยันการลงคะแนนทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง

การนับคะแนน บริษัทฯ จะใช้วิธีหักคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยและงดออกเสียงจากจำนวนเสียงทั้งหมดที่เข้าร่วมประชุม และส่วนที่เหลือจะถือว่าเป็นคะแนนเสียงที่เห็นด้วยในระเบียบวาระนั้นๆ ทั้งนี้ ในการพิจารณาคะแนนเสียงดังกล่าวจะคำนึงถึงการลงคะแนนเสียงที่ผู้ถือหุ้นได้มอบฉันทะแสดงเจตนาไว้ตามหนังสือ มอบฉันทะด้วย และสำหรับการออกเสียงลงคะแนนในทุกวาระที่ต้องมีการขอมติจะใช้มติเสียงข้างมากของ ผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน

รายละเอียดผลการนับคะแนนของแต่ละวาระจะแจ้งให้ที่ประชุมทราบในวาระถัดไป”

ทั้งนี้ จำนวนผู้ถือหุ้นหรือผู้รับมอบฉันทะในแต่ละวาระอาจไม่เท่ากัน เนื่องจากอาจมีผู้ถือหุ้นหรือ ผู้รับมอบฉันทะบางท่านเข้ามาประชุมเพิ่มเติมหรือกลับก่อน

เมื่อผู้ถือหุ้นรับทราบและเห็นชอบวิธีการออกเสียงลงคะแนน การนับคะแนน และการประกาศผลคะแนนตามที่กล่าวข้างต้น ประธานฯ จึงได้ดำเนินการประชุมตามระเบียบวาระดังนี้

วาระที่ 1 : เรื่องที่ประธานฯ จะแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

ประธานฯ ได้ขอให้เลขานุการบริษัทแจ้งรายงานสถานะการถือหุ้นของบริษัทฯ เลขานุการบริษัทได้รายงานว่า “ณ วันที่ 14 มีนาคม 2560 ซึ่งเป็นวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นสำหรับการประชุมในครั้งนี้ บริษัทฯ มีผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 5,586 ราย แบ่งออกเป็นผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 5,551 ราย ถือหุ้นเป็นจำนวนรวม 213,780,222 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 94.59 และผู้ถือหุ้นสัญชาติต่างด้าว 35 ราย ถือหุ้นเป็นจำนวน 12,219,778 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 5.41”

ที่ประชุมรับทราบ

วาระที่ 2 : พิจารณารับรองรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559

ประธานฯ ขอให้ที่ประชุมรับทราบรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2559

ที่ประชุมรับทราบ

วาระที่ 3 : พิจารณารับทราบรายงานของคณะกรรมการประจำปี 2559

ประธานฯ ได้รายงานว่า ตามข้อคับของบริษัทฯ ข้อ 34(1) กำหนดให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี “พิจารณารับทราบรายงานที่แสดงถึงกิจการของบริษัทฯในรอบปีที่ผ่านมา”

จากนั้น ประธานฯ ได้เชิญนายฟรานซิส แวนเบลเลน กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้นำเสนอในวาระนี้ ซึ่งนายฟรานซิสฯ ได้นำเสนอผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2559 ดังนี้

วิสัยทัศน์ของบริษัทฯ

พีดีไอมุ่งมั่นเป็นผู้นำการพัฒนา ขับเคลื่อน และเติบโตในธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน วัสดุโลหะที่มีมูลค่าเพิ่ม และบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีความเห็นว่าวิสัยทัศน์ข้างต้น เป็นเพียงกรอบแนวทางในการดำเนินงานเท่านั้น มิได้จำกัดเฉพาะธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หรือจำกัดเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น บริษัทอาจพิจารณาเข้าไปลงทุนในโครงการอื่นๆ และในภูมิภาคอื่นๆได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นโครงการที่สร้างผลตอบแทนที่ดี และอยู่บนพื้นฐานความเสี่ยงทางธุรกิจที่เหมาะสม ทั้งนี้ โครงการที่จะเข้าไปลงทุน จะต้องเป็นโครงการที่สร้างความยั่งยืน ยาวนาน และไม่พึ่งพาโลหะสังกะสี ซึ่งมีราคาผันผวน อย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา เช่น การลงทุนในโครงการที่มีนวัตกรรม เป็นต้น โดยบริษัทยังคงสร้างความสมดุลระหว่าง การให้ความสำคัญต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม ที่เราเข้าไปดำเนินการ และการให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดแก่ผู้ถือหุ้นของเรา

ผลประกอบการปี 2559

  • จากงบการเงินรวม บริษัทฯ มีผลการดำเนินงานที่เป็นบวกเท่ากับ 478 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 216% เมื่อเทียบกับปี 2558 (151 ล้านบาท) เนื่องมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
    • รายได้จากการจำหน่ายโลหะสังกะสีเพิ่มสูงขึ้น 6% มาจากราคาโลหะสังกะสีในตลาดโลหะลอนดอน (London Metals Exchanges : LME) เพิ่มสูงขึ้น และค่าพรีเมี่ยม ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ราคาโลหะสังกะสี ปี 2559 มีความผันผวน โดยในครึ่งปีแรก อยู่ในอัตราที่ต่ำ แต่กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าในปี 2560 นี้ ราคาโลหะสังกะสียังคงสูง แต่ราคาต่ำกว่าสิ้นปี 2559 เล็กน้อย
    • การอ่อนค่าของค่าเงินบาท
    • การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานได้ 11%
  • เนื่องจากผลการดำเนินงานที่ดี คณะกรรมการเห็นควรเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติจ่ายเงิน ปันผล 1 บาท ต่อหุ้น ซึ่งจะเสนอในการประชุมครั้งนี้
  • อัตราส่วนหนี้ต่อทุนอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี เท่ากับ 0.39
  • ในที่ประชุมฯ กรรมการผู้จัดการได้มีการแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบในด้านอื่นๆ ดังนี้
    • บริษัทได้จำหน่ายหุ้นที่ถือทั้งหมด (35%) ในบริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด เนื่องจากผลประกอบการที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่อง
    • ธุรกิจด้านพลังงาน มีความคืบหน้าอย่างมาก โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซล่าร์ฟาร์ม) ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มดำเนินโครงการแรกแล้ว และโครงการที่สองอยู่ระหว่างการก่อสร้าง นอกจากนี้บริษัทยังได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อโซล่าร์ฟาร์ม ที่อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมาด้วย
    • ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 บริษัทได้ผ่านการรับรองจากแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) ว่าบริษัทมีนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด
  • ในที่ประชุมฯ กรรมการผู้จัดการได้มีการนำเสนอรายละเอียดเป็นสไลด์อธิบายเพิ่มเติมเปรียบเทียบตัวเลขสำคัญทางการเงิน อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ การจ่ายเงินปันผล ราคาหุ้นย้อนหลังห้าปี รวมถึงเปรียบเทียบงบแสดงฐานะทางการเงิน ปี 2558 และ 2559 ให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ

การยุติธุรกิจสังกะสี

  • เหมืองแม่สอด : ได้หยุดการผลิตแร่ตั้งแต่ กลางปี 2559 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการฟื้นฟูสภาพเหมือง ซึ่งจะแล้วเสร็จ ปลายปี 2560 นี้
  • - โรงย่างแร่จังหวัดระยอง : ได้หยุดการดำเนินการตั้งแต่สิ้นปี 2559 และปิดโรงงานในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการจำหน่ายทรัพย์สินให้กับ บริษัท พีดีไอ-ซีอาร์ที จำกัด เพื่อการลงทุนในธุรกิจใหม่ ซึ่งจะสร้างเพิ่มมูลค่าทางบัญชีให้กับบริษัท
  • โรงถลุงสังกะสี จังหวัดตาก : ดำเนินการผลิตจนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ส่วนแผนกงานหลอมโลหะสังกะสี ยังคงดำเนินการจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2560
  • บริษัทได้มีการสื่อสารกับพนักงานในองค์กรเรื่องการยุติธุรกิจสังกะสี โดยได้ลดจำนวนพนักงานลง 288 คน พร้อมจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายและเงินช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ซึ่งในปี 2560 บริษัทมีพนักงานคงเหลือจำนวน 546 คน

กลยุทธ์การเติบโตของบริษัท

โครงสร้างองค์กรของบริษัทแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลุ่มธุรกิจพลังงาน ดำเนินการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
  2. กลุ่มธุรกิจวัสดุโลหะที่มีมูลค่าเพิ่ม ดำเนินการรีไซเคิลโลหะให้กลายเป็นโลหะที่มีมูลค่าเพิ่ม
  3. กลุ่มธุรกิจบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ดำเนินการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม

พีดีไอ เอ็นเนอร์ยี

  1. พีดีไอ เอเชีย โซล่าร์ (พีดีไอ เอ็นเนอร์ยี ถือหุ้น 100%)พีดีไอ เอเชีย โซล่าร์ มุ่งเน้นการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (โซล่าร์ฟาร์ม) ที่ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 35 เมกะวัตต์
    • โครงการ Nanao เริ่มดำเนินการซื้อขายไฟแล้ว มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2.27 เมกะวัตต์ โดยสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่ประมาณการไว้ 8%
    • โครงการ Nogata ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10.73 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่าง การก่อสร้าง โดยสามารถเริ่มดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560
    • โครงการ Ryohashiya และ โครงการ Kazano ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 21.70 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการและรอข้อมูลเพิ่มเติม โดยสามารถเริ่มดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2560 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ตามลำดับ
  2. พีดีไอ แม่ระมาด (พีดีไอ เอ็นเนอร์ยี ถือหุ้น 99.99%)
    • พีดีไอ แม่ระมาด ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (โซล่าร์ฟาร์ม) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 6.3 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ระยะเวลา 25 ปี เริ่มตั้งแต่ 26 ธันวาคม 2556 โดยได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) 6.50 บาท
    • พีดีไอ เอ็นเนอร์ยี ได้บรรลุข้อตกลงการซื้อโครงการพีดีไอ แม่ระมาด เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ใช้เงินลงทุนรวม 477 ล้านบาท
    • การดำเนินโครงการ สามารถทำได้ดีกว่าที่ประมาณการไว้ 1-2% นอกจากนี้ พีดีไอ แม่ระมาด ยังได้ปรับปรุงโรงงานเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและรายได้

โดยในปี 2560 พีดีไอ เอ็นเนอร์ยี ยังคงมุ่งเน้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ เช่น โครงการ ในประเทศญี่ปุ่น โครงการพีดีไอ แม่ระมาด รวมถึงโครงการโซล่าร์สหกรณ์ (ขนาดกำลังการผลิตสูงสุด 20 เมกะวัตต์) โครงการโซล่าร์ฟาร์มบนบ่อเก็บกากแร่ (ขนาดกำลังการผลิตสูงสุด 80 เมกะวัตต์) โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 2,200 ล้านบาท (ส่วนของผู้ถือหุ้น 500 ล้านบาท) อย่างไรก็ดี หากมีโครงการพลังงานทดแทนอื่นๆที่มีศักยภาพและมีความเป็นไปได้ บริษัทก็จะทำการศึกษาต่อไป

พีดีไอ แมททีเรียล

  1. พีดีไอ-ซีอาร์ที (พีดีไอ แมททีเรียล ถือหุ้น 60% คาร์บอน รีดัคชั่น เทคโนโลยี ถือหุ้น 40%)
    • พีดีไอ-ซีอาร์ที เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างพีดีไอ แมททีเรียล และคาร์บอน รีดัคชั่น เทคโนโลยี ประเทศนอร์เวย์ ประกอบธุรกิจรีไซเคิลโลหะให้กลายเป็นโลหะที่มีมูลค่าเพิ่ม
    • พีดีไอ-ซีอาร์ที ได้ร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับสแกนอาร์ค (ScanArc) ประเทศสวีเดน ซึ่งพีดีไอ-ซีอาร์ที ได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย และอาจขยายขอบเขตรวมทั้งทวีปเอเชียในอนาคต
    • ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการจัดทำพื้นฐานด้านวิศวกรรม (Basic Engineering) โดยล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้เล็กน้อย เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้มีความซับซ้อน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2562 โดยใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1,600 ล้านบาท (ส่วนของผู้ถือหุ้น 600 ล้านบาท)
    • โครงการจะมีการนำทรัพย์สินของโรงงานระยองมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างมูลค่าสูงสุดทางบัญชีให้กับทรัพย์สินของบริษัท
    • โครงการได้รับการสนับสนุนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
    • ในที่ประชุมฯ กรรมการผู้จัดการได้มีการนำเสนอรายละเอียดเป็นสไลด์อธิบายเพิ่มเติมถึงแผนผังขั้นตอนการทำงานของเครื่องจักร ซึ่งใช้เทคโนโลยี Submerged Plasma แผนผังโรงงานโดยสังเขป รวมถึงคลิปวีดีโอแสดงตัวอย่างการทำงานของ ScanArc ให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ
  2. พีดีไอ เมทัลส์
    • พีดีไอ เมทัลส์ เป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของพีดีไอ แมททีเรียล จัดตั้งขึ้นเมื่อไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายโลหะสังกะสีคุณภาพสูง เพื่อรองรับลูกค้าภายในประเทศ รวมถึงให้บริการด้านเทคนิค การฝึกอบรม และการวางแผนการผลิต
    • ในปี 2560 บริษัทวางแผนการจัดจำหน่ายโลหะสังกะสีภายในประเทศ มากกว่า50,000 ตัน โดยมีสังกะสีในสต็อกประมาณ 30,000 ตัน ที่สามารถนำมาผลิตและจำหน่ายได้จนถึง สิ้นปี 2560 และนำเข้าจากต่างประเทศอีกส่วนหนึ่ง
    • ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไปบริษัทจะนำเข้าโลหะสังกะสีจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ทั้งประเภทโลหะสังกะสีบริสุทธิ์ และโลหะสังกะสีผสม รวมถึงอาจมีโลหะประเภทอื่นๆด้วยในอนาคต ทั้งนี้บริษัทได้มีการลงทุนด้านโลจิสติกส์ โดยมีโกดังเก็บสินค้า ที่ลาดกระบัง เพื่อรองรับการนำเข้าโลหะสังกะสีดังกล่าว
    • บริษัทได้มีการสื่อสารกับลูกค้าผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์ (LINE) เพื่อความสะดวก ในการตรวจสอบราคาโลหะสังกะสีรายวัน
  3. พีดีไอ อีโคพีดีไอตาก อีโค (พีดีไอ ถือหุ้น 51% โดวะ อีโค่ ซิสเต็ม ถือหุ้น 49%)
    • พีดีไอตาก อีโค เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างพีดีไอ และโดวะ อีโค่ ซิสเต็ม ประเทศญี่ปุ่น ประกอบธุรกิจบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม โดยการคัดแยก ฝังกลบ รวมถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากกากอุตสาหกรรม ใช้เงินลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท (ส่วนของผู้ถือหุ้น 240 ล้านบาท) สามารถเปิดดำเนินการได้ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562
    • โครงการตั้งอยู่ในจังหวัดตาก เพื่อรองรับกากอุตสาหกรรมในภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีวิธีการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนเหมาะสม ดังนั้นหากบริษัทจัดตั้งโครงการนี้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกในภาคเหนืออีกด้วย
    • โครงการได้รับการสนับสนุนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม
    • บริษัทได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำร่างขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping) (ค.1) และเริ่มกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเริ่มขั้นตอนการประเมินผลกระทบ (Focus Group) (ค.2)
    • ปัญหาหลักในโครงการนี้คือการไม่ยอมรับของชุมชนในพื้นที่เนื่องจากความไม่เข้าใจ บริษัทจึงประสงค์จะพยายามทำความเข้าใจกับชุมชน ก่อนที่จะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

โดยสรุป เห็นว่าในปี 2560 นี้ จะเป็นปีที่ดีของบริษัท และอาจดีกว่าปี 2559 เนื่องจากบริษัทมีโอกาสจำหน่ายโลหะสังกะสีจากสต็อก ได้ถึงสิ้นปี 2560 รวมถึงมีแผนการจำหน่ายโลหะสังกะสีอีก 30,000 ตัน ตลอดจนการโอนทรัพย์สินที่โรงงานระยองให้กับพีดีไอ-ซีอาร์ที ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าทางบัญชีให้กับบริษัท นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้จากธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น และในประเทศไทย อีกด้วย

สุดท้ายนี้นายฟรานซิส แวนเบลเลนได้กล่าวขอบคุณผู้ถือหุ้นที่กรุณารับฟังและให้การสนับสนุนบริษัทด้วยดี เสมอมา

ที่ประชุมรับทราบผลการดำเนินงานและรายงานของคณะกรรมการบริษัท ในรอบปี 2559 การยุติธุรกิจสังกะสี และกลยุทธ์การเติบโตขององค์กร

จากนั้นประธานฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถาม ซึ่งประธานฯ กรรมการผู้จัดการ และกรรมการได้ตอบข้อซักถามและรับทราบความเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะของผู้ถือหุ้น สรุปได้ดังนี้

1. ผู้ถือหุ้นได้รับทราบข่าวจากทางหนังสือพิมพ์ ความว่า “ปีนี้จะเป็นปีทองของพีดีไอ” “พีดีไอจัดเป็นธุรกิจดาวเด่นของซีจีเอช” “ธุรกิจของ PDI จะดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน” จึงได้สอบถามว่าความเป็นจริงเป็นเช่นไร

กรรมการผู้จัดการตอบ ผมไม่แน่ใจว่าจะเป็นปีทองหรือไม่ เพราะไม่มีคำจำกัดความสำหรับคำว่าปีทอง แต่จะเป็นปีที่ดีของพีดีไออย่างแน่นอน เมื่อพิจารณาถึงเงินปันผลราคาหุ้นย้อนหลัง ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จึงขอให้คุณเชื่อมั่นและอยู่กับบริษัทต่อไป

แม้ว่าที่ผ่านมาราคาหุ้นผันผวน นั่นก็เพราะว่าบริษัทของเราเป็นบริษัทผู้ผลิตโลหะสังกะสี ซึ่งไม่สามารถกำหนดราคา หรือสร้างอิทธิพลต่อราคาสังกะสีเองได้ เพราะอ้างอิงราคาโลหะสังกะสีในตลาดโลหะลอนดอน (London Metals Exchange : LME) ดังนั้นบริษัทได้มีกลยุทธ์ใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืน ในอนาคตจึงไม่ต้องพึงพิงปัจจัยภายนอกอีกต่อไป เราต้องการกำหนดผลประกอบการได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นที่มาของการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ซึ่งสร้างรายได้ที่แน่นอนคงที่ โดยได้รับผลตอบแทนประมาณ 12% ส่วนโครงการ PDI-CRT คาดว่าผลตอบแทนจะไม่ต่ำกว่า 15% นอกจากนี้ สำหรับโครงการอื่นๆที่จะเข้าไปลงทุนในอนาคต จะต้องเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนสูง และความเสี่ยงต่ำ หรือเป็นโครงการที่ให้ผลตอบแทนไม่สูงมากนัก แต่มีความเสี่ยงต่ำมาก และคาดว่าในอีก 3 ปี ข้างหน้า พีดีไอจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

คุณสดาวุธตอบ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหาร ขอเรียนว่า เดิมธุรกิจของพีดีไอขึ้นอยู่กับสังกะสีเพียงอย่างเดียว ซึ่งสังกะสีก็จะเริ่มหมดไป นั่นจึงเป็นสิ่งท้าทายที่คณะผู้บริหารได้พยายามหาวิธีเสริมรายได้ให้กับบริษัท ประกอบกับตัดสิ่งที่ลงทุนแล้วไม่สร้างรายได้ หรือดึงรั้งผลกำไรให้ลดลง และลดค่าใช้จ่าย โดยจะมุ่งไปทำธุรกิจอื่น โดยปีที่แล้วก็มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่น ซึ่งสามารถรับรู้รายได้แล้วส่วนหนึ่ง นั่นก็เป็นสิ่งที่เราพยายามเดินหน้า ลงทุนในธุรกิจที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงให้กับบริษัท นอกจากนี้บริษัทยังมีสต็อกสังกะสีเหลืออยู่ และราคาโลหะสังกะสีเพิ่มสูงขึ้น ฉะนั้นบริษัทก็ยังคงเหลือเงินสดมากพอสมควร ซึ่งสามารถนำไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆที่สามารถสร้างรายได้ สร้างความมั่นคง ให้กับบริษัท และไม่มีความเสี่ยง สุดท้ายนี้ ปีนี้เราก็มีเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น 1 บาท ซึ่งคุ้มค่ากับที่ผู้ถือหุ้นรอคอย และเชื่อว่าปี 2560 นี้ผลประกอบการน่าจะดีขึ้นกว่าปี 2559

2. หากบริษัทขายสังกะสีหมดภายในไตรมาสที่ 2 หลังจากนั้นรายได้จากสังกะสีไม่มีแล้ว จะมีรายได้จากทางอื่นเข้ามาหรือไม่ อยากทราบระยะเวลาที่รายได้จะเข้ามา รวมถึงประมาณการรายได้ และได้มีการวางแผนไว้อย่างไร

ประธานกรรมการตอบ ขณะนี้มีการรับรู้รายได้จากโซล่าร์ฟาร์มแล้ว อย่างที่ทราบดีว่าในอดีตผลประกอบการขึ้นอยู่กับสังกะสี และราคาสังกะสีก็ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นสิ่งสำคัญยิ่งคือเมื่อหมดธุรกิจสังกะสีแล้ว บริษัทเราจะไปในทิศทางใหม่ ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ ดังนั้นหากจะยืนยันว่าในปีต่อๆไปจะรุ่งโรจน์เหมือนกับปีที่ผ่านๆมาหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่อยากให้ความมั่นใจกับท่านผู้ถือหุ้นคือเราไม่นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมากและเราจะพยายามทำอย่างเต็มที่ เราไม่พึ่งพาสังกะสีอย่างที่เราเคยทำมาในอดีต เพราะประสบปัญหามาแล้วในอดีต

3. หลังจากปิดเหมืองที่แม่สอด และขายทรัพย์สินที่โรงงานระยองธุรกิจสังกะสียังไม่เลิกไปทันที แต่จะเป็นธุรกิจจำหน่ายโลหะสังกะสี จึงอยากทราบความชัดเจนว่าจะมีสภาพเป็นอย่างไร อัตราส่วนรายได้จะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อรักษากระแสเงินสดของบริษัท มิฉะนั้นอาจมีการขาดช่วงของธุรกิจ และอาจสะท้อนกลับมาที่ราคาหุ้น

กรรมการผู้จัดการตอบ เรายังคงผลิตและขายสังกะสี ตลอดทั้งปี 2560 ไม่ใช่ถึงแค่สิ้นไตรมาสที่ 2 เท่านั้น นอกจากนี้ เรายังได้เริ่มธุรกิจจำหน่ายโลหะสังกะสี โดยจำหน่ายในสต็อค ประมาณ 30,000 ตัน และนำเข้ามาจำหน่ายอีก 30,000 ตัน โดยเป้าในปีหน้าคือจำหน่าย 50,000 ตัน รายได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากราคาสังกะสีที่สูง โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิจากธุรกิจจำหน่ายโลหะสังกะสีประมาณ 50 ล้านบาท ในอนาคตรายได้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นจากราคาสังกะสี แต่กำไรของบริษัทจะมาจากแหล่งที่ต่างไป กล่าวคือ ธุรกิจจำหน่ายโลหะสังกะสี และธุรกิจพลังงาน โดยบริษัทเริ่มรับรู้รายได้จากโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น และโครงการพีดีไอ แม่ระมาด และจะเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า นอกจากนี้ยังมีแหล่งรายได้จากโครงการอื่นๆด้วย เช่น การลงทุนในพีดีไอ-ซีอาร์ที ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1,000-1,500 ล้านบาท และมีกำไรสูง ซึ่งขณะนี้เรายังไม่สามารถให้จำนวนตัวเลขและรายละเอียดที่แน่ชัดได้ แต่สามารถสรุปได้ว่ากำไรจะมาจากหลายทาง

4. ในกรณีปิดเหมือง บริษัทได้มีการตั้งสำรองไว้หรือไม่ เพียงพอหรือไม่ หรือจะต้องมีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นหรือไม่ มีการบันทึกบัญชีอย่างไร แล้วจะมีการเลิกจ้างพนักงานที่เหมืองทั้งหมดหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ บันทึกบัญชีเมื่อใด

กรรมการผู้จัดการตอบ รายละเอียดได้ปรากฏอยู่ในงบการเงินแล้ว ซึ่งในปี 2558 – 2559 เราได้มีการตั้งสำรองสำหรับการปิดเหมือง และการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีแผนการตั้งสำรองในปีนี้อีก เนื่องจากทุกรายการได้มีการบันทึกบัญชีไว้เรียบร้อยแล้ว

5. สอบถามโครงการโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น มีทั้งหมดกี่เมกะวัตต์ บริษัทรับรู้รายได้เมื่อไหร่ อย่างไร ประมาณการผลตอบแทนเป็นเท่าใด

กรรมการผู้จัดการตอบ โครงการโซล่าร์ฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่นมีทั้งหมด 4 โครงการ รวม 35 เมกะวัตต์ ในขณะนี้ โครงการ Nanao ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2.27 เมกะวัตต์ ได้เริ่มดำเนินงานแล้ว โครงการ Nogata ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10.7 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนโครงการ Ryohashiya และ Kazano ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 21.70 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการ

คุณทอมมี่ตอบ ขอเสริมว่าวิธีการบันทึกบัญชีในประเทศญี่ปุ่นจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ในงบของเราจะบันทึก เป็นหน่วยลงทุนในโครงการที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะได้รับเงินปันผลคืนมาที่บริษัทแม่ โดยระยะเวลา ที่โครงการแล้วเสร็จได้ระบุไว้ชัดเจนแล้ว ซึ่งประมาณการกำไรไว้อยู่ที่ 10-13%

6. สอบถามเกี่ยวกับความคืบหน้าโครงการโซล่าร์ฟาร์มที่ตาก ทราบมาว่าติดปัญหาเรื่องสายส่ง และสอบถามนโยบายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม รวมถึงไบโอแมส

กรรมการผู้จัดการตอบ ขอเรียนว่าโครงการโซล่าร์ฟาร์มที่ตาก ไม่ได้ติดปัญหาเรื่องสายส่ง มีสายส่งรองรับ และมีจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า เพียงแต่ในขณะนี้บริษัทยังไม่ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฯ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมได้ยุติโครงการ เพราะไม่ได้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้า ชีวมวล (ไบโอแมส) เราตัดสินใจยุติการดำเนินโครงการ เนื่องจากปัญหาการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้บริษัทได้มีการศึกษา และปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงินหลายท่าน พบว่า 7 ใน 10 ของโครงการ ไบโอแมสต้องล้มเลิกโครงการเนื่องจากปัญหาการจัดหาวัตถุดิบ

ประธานกรรมการตอบ โครงการต่างๆ บริษัทมีความพร้อม แต่เนื่องจากนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ และพลังงานลม ยังไม่ชัดเจนแน่นอน

7. สอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการโซล่าร์ฟาร์มสหกรณ์

กรรมการผู้จัดการตอบ โครงการนี้จะต้องมีการจับสลากโดยสหกรณ์ที่เราให้การสนับสนุน ซึ่งจะเกิดขึ้นประมาณเดือนมิถุนายน ปี 2560 นี้

8. ตามที่ปี 2560 บริษัทจะขายสังกะสีในสต็อก ส่วนรายได้จากโครงการโซล่าร์ฟาร์ม จะรับรู้เป็นเงินปันผล โดยบางโครงการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ คือไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2560 อาจทำการผลิตได้ไม่เต็มที่ และบริษัทขาดรายได้บางส่วน

คุณทอมมี่ตอบ บริษัทจะดำเนินธุรกิจสังกะสีจนถึงสิ้นปี 2560 นี้ จึงไม่ได้ทำให้รายได้ขาดช่วงแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี เมื่อโครงการที่ญี่ปุ่นเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ก็จะพิจารณาอีกครั้งว่าโครงการใหม่จะมีรายได้ ผลกำไรเท่าไหร่ แล้วเปรียบเทียบกับธุรกิจสังกะสี คาดว่าอาจจะไม่สูงเท่าเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการสามารถพิจารณาอนุมัติโครงการใหม่ๆได้เร็วทันภายในปีนี้หรือไม่

วาระที่ 4 : พิจารณาอนุมัติงบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุนสำหรับวันสิ้นสุดรอบปีบัญชี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559

เลขานุการบริษัทรายงานว่า ตามข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อ 34(2) กำหนดให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี “พิจารณาและอนุมัติงบดุลและงบกำไรขาดทุน ณ วันสิ้นสุดรอบบัญชีของบริษัทฯ” และ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 112 บัญญัติว่า “คณะกรรมการต้องจัดให้มีการทำงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุน ณ วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีของบริษัทฯ เสนอต่อที่ประชุมสามัญประจำปี เพื่อพิจารณาอนุมัติ” สรุปสาระสำคัญดังนี้

รายการปี 2559ปี 2558
สินทรัพย์รวม (ล้านบาท)5,592.515,104.74
หนี้สินรวม (ล้านบาท)1,575.501,523.80
ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม (ล้านบาท)4,017.013,580.95
รายได้จากการขายและบริการรวม (ล้านบาท)5,148.524,868.14
การแบ่งปันกำไร (ขาดทุน)สุทธิสำหรับปี
- ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ (ล้านบาท)
477.77150.76
(ขาดทุน) กำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน (บาท/หุ้น)2.110.67

จากงบการเงินรวม

ประธานฯ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ซักถาม เมื่อไม่มี ประธานฯ ได้ขอเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติงบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุนสำหรับวันสิ้นสุดรอบปีบัญชี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559

มติที่ประชุม ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติอนุมัติงบแสดงฐานะการเงินและงบกำไรขาดทุนสำหรับ วันสิ้นสุดรอบปีบัญชี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 ด้วยคะแนนเสียงดังนี้

เห็นด้วย112,621,127 เสียงคิดเป็นร้อยละ100
ไม่เห็นด้วย0 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
งดออกเสียง1,262,400 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
บัตรเสีย0 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
วาระที่ 5 :พิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2559

เลขานุการบริษัทรายงานว่า ข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อ 34(3) กำหนดให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี “พิจารณาจัดสรรเงินกำไร เพื่อที่จะประกาศเงินปันผล ในกรณีที่มีกำไรพอที่จะประกาศจ่ายเงินปันผลได้” มาตรา 116 แห่ง พ.ร.บ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 กำหนดให้ “บริษัทต้องจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของกำไรสุทธิประจำปี หักด้วยยอดเงินขาดทุนสะสมยกมา (ถ้ามี) จนกว่าทุนสำรองนี้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของทุนจดทะเบียน เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับหรือกฎหมายอื่นกำหนดให้ต้องมีทุนสำรองมากกว่านั้น” โดยข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อ 40 กำหนดว่า “การจ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไรจะกระทำมิได้ ในกรณีที่บริษัทยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ห้ามมิให้จ่าย” ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดสรรทุนสำรองไว้ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนดแล้ว

ในกรณีปกติ บริษัทฯ จะจ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล เว้นแต่บริษัทฯ จะมีความจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการขยายงานในอนาคต

จากงบการเงินเฉพาะบริษัท บริษัทฯ มีผลกำไรสุทธิสำหรับปี 2559 รวม 360.64 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 64.18 ล้านบาท เมื่อเป็นเช่นนี้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาแล้วเห็นสมควรจ่ายเงินปันผลประจำปี 2559 ในอัตราหุ้นละ 1.00 บาท โดยจ่ายจากกำไรสุทธิของบริษัทฯ ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ จำนวน 226 ล้านหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 226 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา และมากกว่านโยบายการจ่ายเงินปันผลในกรณีปกติ

เงินปันผลจำนวน 1.00 บาท ซึ่งจ่ายจากกำไรสุทธิของบริษัทฯ ที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ ผู้ถือหุ้นประเภทบุคคลธรรมดาสามารถขอเครดิตภาษีคืนได้ตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลรัษฎากรมาตรา 47 ทวิกำหนด

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิในการรับเงินปันผลในวันพุธที่ 3 พฤษภาคม 2560 และให้รวบรวมรายชื่อตามมาตรา 225 ของพ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ โดยวิธีปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นในวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม 2560 โดยขอรับเงินปันผลภายในกำหนด 10 ปี และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม 2560

ประธานฯ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ซักถาม เมื่อไม่มี ประธานฯ ได้ขอเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติให้จ่ายเงินปันผลประจำปี 2559

มติที่ประชุม ลงมติเห็นชอบ ตามที่เสนอ โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติรับรองด้วยคะแนนเสียงดังนี้

เห็นด้วย113,109,727 เสียงคิดเป็นร้อยละ100
ไม่เห็นด้วย0 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
งดออกเสียง774,400 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
บัตรเสีย0 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
วาระที่ 6 : พิจารณาอนุมัติแต่งตั้งกรรมการใหม่และกรรมการแทนผู้ที่ออกตามวาระ และรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ

เลขานุการบริษัทรายงานว่า เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อ 21 และข้อ 34(4) จากจำนวนกรรมการทั้งสิ้น 11 คน มีกรรมการที่ต้องออกจากตำแหน่งตามวาระในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีครั้งนี้ รวม 4 คน คือ นายคาเรล วินค์ นายพินิต วงศ์มาศา นายทอมมี่ เตชะอุบล และนางสาวประภา ปูรณโชติ

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2559 บริษัทฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอวาระและเสนอรายชื่อบุคคลเป็นกรรมการและยังได้มีการเสนอรายชื่อบุคคลอื่นต่อที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทนให้พิจารณาด้วย คณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคุณสมบัติของรายชื่อบุคคลทั้งหมดและ มีมติให้เสนอกรรมการทั้ง 4 คน ที่ต้องออกจากตำแหน่งตามวาระกลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการต่อไปอีกวาระหนึ่ง

คณะกรรมการบริษัท ในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 01-2560 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ได้พิจารณาคุณสมบัติของกรรมการแต่ละท่าน และพิจารณาตามความเห็นของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทนแล้ว เห็นว่ากรรมการทั้ง 4 คน มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทฯ สามารถที่จะช่วยพัฒนาบริษัทฯ ได้ ดังนั้นบริษัทฯได้เสนอให้เลือกกรรมการทั้ง 3 คน คือ นายคาเรล วินค์ นายทอมมี่ เตชะอุบล และนางสาวประภา ปูรณโชติ กลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการต่อไปอีกวาระหนึ่ง และเสนอให้แต่งตั้ง ดร. โชคชัย อักษรนันท์ เป็นกรรมการอิสระของบริษัทฯ แทนนายพินิต วงศ์มาศา ซึ่งไม่ประสงค์จะรับตำแหน่งกรรมการในวาระต่อไป

ทั้งนี้บริษัทฯ ได้แนบประวัติของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ ข้อมูลการถือหุ้นสามัญในบริษัทฯ ข้อมูลการดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนและบริษัท/กิจการอื่นๆ รวมทั้งข้อมูลความสัมพันธ์ของผู้ได้รับการเสนอชื่อ

นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 06-2559 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 ได้พิจารณาตามข้อเสนอของคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทั้ง 3 คน คือ นายวินัย วามวาณิชย์ ประธานกรรมการตรวจสอบ นายอัศวิน คงสิริ กรรมการตรวจสอบ และนายคาเรล วินค์ กรรมการตรวจสอบ ซึ่งครบกำหนดวาระเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 กลับเข้าดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตรวจสอบใหม่อีกวาระหนึ่ง เป็นเวลา 3 ปี โดยมีขอบเขต หน้าที่ ความ-รับผิดชอบดังเดิม

จากนั้นประธานฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถาม ซึ่งประธานคณะกรรมการสรรหาและพิจาณาผลตอบแทนได้ตอบข้อซักถามของผู้ถือหุ้น สรุปได้ดังนี้

1. บริษัทมีนโยบายเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของกรรมการอิสระ อย่างไรบ้าง เนื่องจากกรรมการหลายท่านมีวาระการดำรงค์ตำแหน่งเกินกว่า 9 ปี

คุณอัศวินตอบ การแต่งตั้งกรรมการอิสระเป็นไปตามแนวทางของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนแล้ว นอกจากนี้ เนื่องจากบริษัทเชี่ยวชาญด้านธุรกิจสังกะสี และอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ จึงต้องมีการสรรหากรรมการอิสระเพิ่มเติม แต่ไม่สามารถสรรหาได้ ยกเว้นในครั้งนี้สามารถสรรหา ดร.โชคชัยฯ ซึ่งท่านเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับด้านอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ส่วนประเด็นที่ว่ากรรมการท่านอื่นๆดำรงตำแหน่งเกิน 9 ปี นั้น ทางเราได้มีการพิจารณาทุกๆปี ไม่ใช่แต่งตั้งโดยอัตโนมัติ

มติที่ประชุม ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติอนุมัติแต่งตั้งกรรมการทั้ง 3 คน กลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการต่อไปอีกวาระหนึ่ง แต่งตั้ง ดร.โชคชัย อักษรนันท์ เป็นกรรมการอิสระของบริษัทฯ แทนนายพินิต วงศ์มาศา ซึ่งไม่ประสงค์จะรับตำแหน่งกรรมการในวาระต่อไป ตามที่คณะกรรมการเสนอ และรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติรับรองด้วยคะแนนเสียง ดังนี้

การแต่งตั้งกรรมการรายบุคคล

นายคาเรล วินค์ กรรมการอิสระ

 

เห็นด้วย107,064,106 เสียงคิดเป็นร้อยละ94.66
ไม่เห็นด้วย6,038,700 เสียงคิดเป็นร้อยละ5.34
งดออกเสียง791,535 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
บัตรเสีย0 เสียงคิดเป็นร้อยละ-

นายทอมมี่ เตชะอุบล กรรมการ

เห็นด้วย111,720,806 เสียงคิดเป็นร้อยละ98.78
ไม่เห็นด้วย1,384,000 เสียงคิดเป็นร้อยละ1.22
งดออกเสียง789,535 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
บัตรเสีย0 เสียงคิดเป็นร้อยละ-

นางสาวประภา ปูรณโชติ กรรมการ

เห็นด้วย112,774,906 เสียงคิดเป็นร้อยละ99.71
ไม่เห็นด้วย327,900 เสียงคิดเป็นร้อยละ0.29
งดออกเสียง791,535 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
บัตรเสีย0 เสียงคิดเป็นร้อยละ-

ดร. โชคชัย อักษรนันท์ กรรมการอิสระ

เห็นด้วย113,092,806 เสียงคิดเป็นร้อยละ99.99
ไม่เห็นด้วย10,000 เสียงคิดเป็นร้อยละ0.01
งดออกเสียง791,535 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
บัตรเสีย0 เสียงคิดเป็นร้อยละ-

 

วาระที่ 7 : พิจารณาอนุมัติจ่ายเงินบำเหน็จกรรมการประจำปี 2559 และอนุมัติค่าตอบแทนกรรมการ ประจำปี 2560

เลขานุการบริษัทรายงานว่า ตามข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อ 26 กำหนดให้ “กรรมการบริษัทมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทในรูปของเงินรางวัล เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส หรือผลประโยชน์ตอบแทนในลักษณะอื่นตามมติที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะพิจารณา ซึ่งอาจกำหนดเป็นจำนวนแน่นอน หรือวางเป็นหลักเกณฑ์และจะกำหนดไว้เป็นคราวๆ ไป หรือให้มีผลตลอดไปจนกว่าจะเปลี่ยนแปลงก็ได้” และ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 90 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้บริษัทจ่ายเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดให้แก่กรรมการเว้นแต่จ่ายเป็นค่าตอบแทนตามข้อบังคับของบริษัท

ในกรณีที่ข้อบังคับของบริษัทมิได้กำหนดไว้ การจ่ายค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามมติของ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่ง มาประชุม”

คณะกรรมการบริษัทขอเสนอให้ผู้ถือหุ้นอนุมัติค่าตอบแทนคณะกรรมการบริษัท และกรรมการชุดต่างๆ ประจำปี 2560 ซึ่งเท่ากับค่าตอบแทนที่เคยได้รับอนุมัติในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 และอนุมัติจ่ายเงินบำเหน็จกรรมการประจำปี 2559 โดยใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวน เสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นซึ่งมาประชุม โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. บำเหน็จกรรมการ

คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทนหลังจากได้เปรียบเทียบข้อมูลอ้างอิงจากอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน ได้เสนอให้จ่ายเงินบำเหน็จให้แก่กรรมการประจำปี 2559 ตามหลักเกณฑ์เดิมคือไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินปันผลที่มีการจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น (เฉพาะกรรมการที่ไม่ได้เป็นผู้บริหาร) ซึ่งจะจ่ายจริง ตามสัดส่วนอายุการเป็นกรรมการในปี 2559 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,260,000 บาท

ปี 2559ปี 2558
เงินบำเหน็จกรรมการรวม (บาท)2,260,000งดจ่าย

2. ค่าตอบแทนกรรมการบริษัท และคณะกรรมการชุดต่างๆ

2.1 ค่าตอบแทนคณะกรรมการบริษัท

ค่าตอบแทนกรรมการที่เป็นผู้บริหารกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร
1. ค่าตอบแทนกรรมการรายปี-200,000 บาท/ปี/คน
2. ค่าเบี้ยประชุม-ประธาน : 20,000 บาท/ครั้ง
กรรมการ : 15,000 บาท/ครั้ง
3. โบนัสกรรมการ-ร้อยละ 1 ของเงินปันผลที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นเฉพาะกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร

2.2 ค่าตอบแทนคณะกรรมการชุดต่างๆ

คณะกรรมการชุดต่างๆ *ค่าเบี้ยประชุมค่าตอบแทนรายปี
1. คณะกรรมการตรวจสอบ-200,000 บาท/ปี/คน
2. คณะกรรมการวางแผนการดำเนินงาน ประธาน: 25,000 บาท/ครั้ง
กรรมการ: 20,000 บาท/ครั้ง
-
3. คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาผลตอบแทน20,000 บาท/ครั้ง-

หมายเหตุ : * เฉพาะกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร

3. ค่าตอบแทนอื่นๆ - ไม่มี

ประธานฯ จึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ซักถาม เมื่อไม่มี ประธานฯ ได้ขอเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินบำเหน็จกรรมการประจำปี 2559 และพิจารณาอนุมัติค่าตอบแทนคณะกรรมการบริษัท และกรรมการชุดต่างๆ ประจำปี 2560

มติที่ประชุม ลงมติพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินบำเหน็จกรรมการประจำปี 2559 และพิจารณาอนุมัติค่าตอบแทนคณะกรรมการบริษัท และกรรมการชุดต่างๆ ประจำปี 2560 ตามที่คณะกรรมการเสนอ โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติรับรองด้วยคะแนนเสียงดังนี้

เห็นด้วย113,109,366 เสียงคิดเป็นร้อยละ99.31
ไม่เห็นด้วย10,000 เสียงคิดเป็นร้อยละ0.01
งดออกเสียง775,175 เสียงคิดเป็นร้อยละ0.68
บัตรเสีย0 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
วาระที่ 8 : พิจารณาอนุมัติการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ประจำปี 2560 และอนุมัติค่าสอบบัญชี

เลขานุการบริษัทรายงานว่า ข้อบังคับของบริษัทฯ ข้อ 34(5) กำหนดให้ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี “แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี และกำหนดค่าตอบแทนสำหรับผู้สอบบัญชี” และ พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 120 บัญญัติว่า “ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีแต่งตั้งผู้สอบบัญชี และกำหนดจำนวนเงินค่าสอบบัญชีของบริษัททุกปี ในการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีจะแต่งตั้งผู้สอบบัญชีคนเดิมอีกก็ได้”

สำหรับปี 2560 เพื่อเป็นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของการตรวจสอบบัญชี คณะกรรมการตรวจสอบได้ทบทวนการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ และหลังจากการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วคณะกรรมการตรวจสอบขอเสนอแต่งตั้งผู้สอบบัญชีในนามบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด ดังรายชื่อต่อไปนี้

  1. นายวัลลภ วิไลวรวิทย์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขทะเบียน 6797 เป็นผู้ลงลายมือชื่อในงบการเงินของบริษัทฯ หรือ
  2. นายชวาลา เทียนประเสริฐกิจ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขทะเบียน 4301 หรือ
  3. นายเพิ่มศักดิ์ วงศ์พัชรปกรณ์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขทะเบียน 3427 หรือ
  4. นายสุวัจชัย เมษะอำนวยชัย ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเลขทะเบียน 6638

เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของบริษัทฯ ในปี 2560 โดยให้คนใดคนหนึ่งเป็นผู้ทำการตรวจสอบและแสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัทฯ และในกรณีที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถปฏิบัติงานได้ให้บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด จัดหาผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอื่นของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด แทนได้ โดยมีอัตราค่าสอบบัญชีน้อยกว่าค่าสอบบัญชีในปีที่ผ่านมา (ค่าใช้จ่ายตามจริง) และมีรายละเอียดดังนี้

หน่วย : บาท

 ปี 2560ปี 2559
ผู้สอบบัญชีบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัดบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด
ค่าตอบแทนจากการสอบบัญชี
- บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)
2,700,0002,900,000
- บริษัทในเครือ780,0001,121,000
ค่าบริการอื่นๆ
การตรวจสอบงบการเงินที่จัดทำขึ้นตามหลักการบัญชีอื่น
ไม่มีไม่มี
ค่าวิชาชีพทางบัญชี (Professional work)ไม่มีไม่มี
ค่าที่ปรึกษาไม่มีไม่มี
รวม3,480,0004,021,000

หมายเหตุ

  1. ค่าใช้จ่ายตามจริง
  2. บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด เคยเป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ เป็นเวลา 4 ปี ระหว่างปี 2540 ถึงปี 2543
  3. ค่าสอบบัญชีของปี 2559 ได้เพิ่มขึ้นจากที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 (3,356,000 บาท) เนื่องจากในระหว่างปี 2559 บริษัทฯ ได้ตั้งบริษัทย่อยเพิ่มขึ้นจำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท พีดีไอ แม่ระมาด จำกัด และบริษัท เซนจูรี เอสเซท แมเนชเมนท์ จำกัด และบริษัทย่อยลดลงจำนวน 2 บริษัท คือ บริษัท พีดีไอ สุราษฎร์ ไบโอแมส จำกัด และบริษัท ผาแดงอินดัสทรี (ประเทศลาว) จำกัด

ทั้งนี้ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด และผู้สอบบัญชีตามรายชื่อที่เสนอข้างต้น ไม่มีความสัมพันธ์และ/หรือส่วนได้เสียกับบริษัทฯ/ผู้บริหาร/ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หากในระหว่างปี มีบริษัทในเครือเพิ่มขึ้น หรือลดลง หรือมีการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าสอบบัญชีประจำปีมีการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าปรับขึ้นหรือลดลง ให้บริษัทฯ มีดุลยพินิจพิจารณาเบิกจ่ายให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพิจารณาที่ผ่านมา บนพื้นฐานราคาที่เหมาะสม

จากนั้นประธานฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถาม เมื่อไม่มี ประธานฯ ขอเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โทมัสสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด เป็นผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ในปี 2560 และอนุมัติค่าสอบบัญชีประจำปีตามที่คณะกรรมการเสนอ

มติที่ประชุม ลงมติอนุมัติการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ ประจำปี 2560 และอนุมัติค่าสอบบัญชีประจำปี 2560 จำนวน 3,480,000 บาทตามที่เสนอ โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้มีมติรับรองด้วยคะแนนเสียงดังนี้

เห็นด้วย113,109,466 เสียงคิดเป็นร้อยละ99.99
ไม่เห็นด้วย10,000 เสียงคิดเป็นร้อยละ0.01
งดออกเสียง775,175 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
บัตรเสีย0 เสียงคิดเป็นร้อยละ-
วาระที่ 9 : เรื่องอื่นๆ

ประธานฯ ได้ขอปิดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นและได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นได้ซักถาม ซึ่งประธานฯ และกรรมการผู้จัดการได้ตอบข้อซักถามและรับทราบความเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะของ ผู้ถือหุ้น สรุปได้ดังนี้

1. การที่บริษัทปรับโครงสร้างการทำธุรกิจจากการเป็นผู้ผลิตโลหะสังกะสี มาเป็นธุรกิจทางด้านพลังงาน แมททีเรียล และอีโค ได้มีการประเมินสัดส่วนรายได้ ของทั้ง 3 ธุรกิจใหม่ หรือไม่ และหากรวมทั้ง 3 ธุรกิจ แล้ว รายได้ทั้งปี จะมากกว่ารายได้ของปีที่แล้วหรือไม่

กรรมการผู้จัดการตอบ ไม่สามารถให้คำตอบได้ ว่าจะมีรายได้ที่แน่นอนเป็นจำนวนเท่าใด และรายได้ในอนาคตเป็นเท่าใด บริษัทกำลังดำเนินการเพื่อสร้างรายได้จากโครงการใหม่ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยในปี 2560 น่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก รายได้จะเป็นไปในแนวทางเดียวกับรายได้ในปี 2559 อันมีรายได้หลักจากธุรกิจสังกะสี และเริ่มมีรายได้บางส่วนจากโซล่าร์ฟาร์ม ส่วนในปีหน้ารายได้หลักจะมาจาก ธุรกิจการจำหน่ายสังกะสี และธุรกิจพลังงานทดแทน โดยยังไม่มีรายได้จากธุรกิจอีโคและแมททีเรียล เพราะจะเริ่มโครงการประมาณปี 2562 โดยบริษัทมีเป้าหมายระยะยาวคือการสร้างรายได้ให้กับบริษัทให้มากเท่าที่จะทำได้ โดยมาจากการดำเนินโครงการที่หลากหลาย

2. ธุรกิจแมททีเรียล วัสดุใดที่นำมารีไซเคิล

กรรมการผู้จัดการตอบ เราจะรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมหลายประเภท ซึ่งมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น ฝุ่นเหล็กที่ได้จากอุตสาหกรรมเหล็ก เศษซากเหลือจากอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ ตัวเร่งปฏิกิริยา ตลอดจนของเสียอุตสาหกรรมทุกประเภท ที่มีประกอบประกอบของโลหะ โดยวัสดุหลักที่นำมารีไซเคิลคือฝุ่นเหล็กจากอุตสาหกรรมเหล็ก

3. ธุรกิจของพีดีไออีโคที่เป็นการกำจัดกากอุตสาหกรรม อยากทราบตำแหน่งที่ตั้งที่ชัดเจน

กรรมการผู้จัดการตอบ โครงการพีดีไอตากอีโค จะตั้งอยู่ที่จังหวัดตาก บริเวณโรงถลุงจังหวัดตาก เพื่อรองรับกากอุตสาหกรรมในภาคเหนือ และภาคกลางของประเทศไทย

4. อยากทราบเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท

กรรมการผู้จัดการตอบ บริษัทมีที่ดินที่โรงงานระยอง 55 ไร่ ที่ดินบริเวณโรงงานตาก 1,500 ไร่ และได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ประมาณ 800 ไร่ รวมพื้นที่ใช้สอยประมาณ 2,200-2,300 ไร่

สำหรับโรงงานตาก 1,500 ไร่ ปัจจุบันใช้ในธุรกิจสังกะสี 200 ไร่ หลังจากหยุดธุรกิจสังกะสี จะต้องบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวในการฟื้นฟูสภาพ ส่วนพื้นที่บริเวณบ่อเก็บกากแร่ 800 ไร่ จะใช้ทำโครงการโซล่าร์ฟาร์ม โดยมีพื้นที่คงเหลือ 700 ไร่ ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ โดยขณะนี้ยังไม่มีแผนใช้พื้นที่ดังกล่าวในโครงการใด

5. ในปีนี้บริษัทมีการวางแผนทำสัญญาสังกะสีล่วงหน้าหรือไม่

คุณวรทิพย์ตอบ สำหรับการซื้อล่วงหน้า ได้มีการทำไปบางส่วนแล้ว โดยสังกะสีที่มาจากการผลิตของบริษัทเอง ประมาณ 30,000 ตัน ทำไปแล้วประมาณ 11,000 ตัน ที่ราคาเฉลี่ย 2,420 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อตัน บางส่วนก็ได้มีการทยอยขายออกไปในไตรมาสแรก และอีกประมาณ 8,000 ตัน ยังไม่ได้ทำ

6. พีดีไอ แมททีเรียล กับ พีดีไออีโค มีการประมาณการผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างไร มากกว่าหรือน้อยกว่า 10-15% ของที่ประมาณการในโครงการโซล่าร์ฟาร์ม

กรรมการผู้จัดการตอบ ประมาณการผลตอบแทนโครงการโซล่าร์ฟาร์ม ประมาณ 10-15% ส่วนโครงการ พีดีไอ-ซีอาร์ที คาดว่า ประมาณการผลตอบแทนอย่างน้อย 15% ส่วนโครงการพีดีไอตากอีโค ประมาณการผลตอบแทน 12-15%

เลขานุการบริษัทได้ขอให้ผู้ถือหุ้นคืนบัตรยืนยันการลงคะแนนที่บริเวณทางออก เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงต่อไป

เมื่อไม่มีผู้ถือหุ้นซักถามเพิ่มเติมอีก ประธานฯ ปิดประชุมเวลา 16.00 น.

รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560