ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของพีดีไอได้ปฏิบัติการตามแผนงานอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนต่อการยุติกิจกรรมการทำเหมืองและถลุงแร่สังกะสีในช่วงปี 2559-2560 ซึ่งให้บริษัทฯ บรรลุวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ

  1. รักษามาตรฐานการปฏิบัติงานในช่วงดำเนินการยุติธุรกิจสังกะสี
  2. ให้แนวทางแก่พนักงานเพื่อวางแผนอาชีพสำหรับอนาคต
  3. สร้างความเข้าใจแก่พนักงานและผู้รับเหมาเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจและแผนการยุติธุรกิจสังกะสีแบบเดิม

บริษัทฯ ได้เลิกจ้างพนักงานส่วนใหญ่ที่เหมืองแม่สอดเมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ตามแผนการปิดเหมือง รวมทั้งการเลิกจ้างพนักงานโรงงานตากจำนวน 99 คน และพนักงานโรงงานระยองอีกจำนวน 49 คน เมื่อเดือนธันวาคม 2559 ตามแผนการยุติธุรกิจสังกะสีในกระบวนการผลิตเดิม บริษัทฯ ได้ดำเนินการด้วยความรอบคอบโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อพนักงานและคู่ค้าที่เกี่ยวข้องกับงานบริการพนักงาน เช่น หน่วยแพทย์และพยาบาลประจำโรงงาน ร้านอาหารในโรงงาน ผู้รับเหมางานบริการทำความสะอาด ผู้รับเหมาบริการรถรับ-ส่งพนักงาน เป็นต้น โดยได้แจ้งข่าวสารและแผนงานของบริษัทฯ แก่พนักงานและคู่ค้าอย่างชัดเจนและต่อเนื่องเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

ด้วยตระหนักดีว่าพนักงานทุกคนมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตในอนาคตขององค์กร บริษัทฯ จึงเปิดช่องทางการสื่อสารหลายช่องทาง และรับฟังความคิดเห็นรวมทั้งข้อกังวลต่างๆ ของพนักงาน เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและดูแลพนักงานเสมือนสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน พนักงานที่ออกจากงานไม่เพียงแต่จะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังได้รับเงินเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง นอกจกนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ตามความต้องการของพนักงานแต่ละสำนักงาน ซึ่งได้จัดเตรียมงบประมาณไว้จำนวน 2.6 ล้านบาท รวมทั้งจัดสัมมนาให้ความรู้และคำแนะนำในการบริหารเงิน ภาษี หนี้สิน และจัดทำเอกสารและคำแนะนำในการขอรับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมและสวัสดิการภาครัฐ ตลอดจนแนะนำการกรอกแบบฟอร์มสรรพากรเพื่อยื่นภาษีเงินได้จ่ายครั้งเดียวเมื่อออกจากงานอีกด้วย

แม้บริษัทฯ จะต้องเลิกจ้างพนักงานจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพนักงานทั้งหมดในปี 2559 แต่บริษัทฯ ยังสามารถรักษาประสิทธิภาพการดำเนินงานของทุกหน่วยงานให้ปฏิบัติภารกิจบรรลุตามเป้าหมายได้โดยปราศจากอุบัติเหตุในการทำงาน เครื่องมืออุปกรณ์และทรัพย์สินของบริษัทฯ ได้รับส่งมอบและควบคุมตามระเบียบการตรวจรับทรัพย์สิน

ผลการดำเนินงานในปี 2559 สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้สะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพ ความเข้าใจในกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงานที่ต้องออกจากบริษัทฯ ก่อนครบเกษียณอายุก็ยังปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แม้จะตระหนักดีว่าเป็นภารกิจสุดท้าย ซึ่งแสดงออกแสดงออกถึงความผูกพันและความปรารถนาดีในการสนับสนุนธุรกิจใหม่ของบริษัทฯ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ปรับโครงสร้างองค์กรสอดรับแผนยุติการผลิตสังกะสีและสนับสนุนธุรกิจใหม่

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ พีดีไอได้ปรับโครงสร้างองค์กรและกำลังพลเพื่อสนับสนุนต่อการยุติธุรกิจสังกะสีและการลงทุนต่างๆ ในธุรกิจใหม่ของพีดีไอ โดยมุ่งเน้นประสิทธิผลสูงสุดในกระบวนการปรับโครงสร้างองค์กร พนักงานจำนวนมากรับผิดชอบงานที่หลากหลายมากขึ้น มีการควบรวมงานให้เหมาะสมกับปริมาณงานที่เหลืออยู่ในแต่ละช่วงเวลา พีดีไอได้ปรับโครงสร้างของหน่วยงานการค้าเป็น พีดีไอ เมทัลส์ เพื่อดำเนินธุรกิจค้าโลหะ สังกะสี พีดีไอยังได้ลงทุนในงานพัฒนาธุรกิจโดยเพิ่มกำลังพลที่จะสนับสนุนโครงการต่างๆ ในธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว พนักงานที่มีศักยภาพสูงและเชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆ ได้ถูกคัดเลือกให้มาร่วมทีมพัฒนาโครงการธุรกิจใหม่ดังกล่าว

การพัฒนาศักยภาพพนักงานรองรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต

ระหว่างปี 2559 – 2560 พนักงานระดับบริหารทั้งหมด 11 คน จะเกษียณอายุจำนวน 4 คน จาก พีดีไอได้ตัดสินใจไม่สรรหาบุคลากรมาแทนที่ โดยจะมอบหมายความรับผิดชอบและหน้าที่ไปยังระดับต่างๆ ภายในองค์กร บริษัทฯ ได้คัดเลือกบุคลากรภายในที่มีศักยภาพเข้ารับการอบรมตามแผนพัฒนารายบุคคล เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะการบริหารจัดการ นอกจากนี้พนักงานทุกระดับในองค์กรจะต้องให้ความสำคัญต่อการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และต้องตระหนักว่าธุรกิจในอนาคตของบริษัทฯ ส่วนใหญ่เป็นการดำเนินธุรกิจกับบริษัทต่างประเทศ

สำหรับทีมงานที่รับผิดชอบในการพัฒนาและดำเนินโครงการธุรกิจใหม่ พีดีไอได้จัดให้ความรู้เพิ่มเติมทั้งในรูปแบบการอบรมสัมมนา การศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing) กับบริษัทชั้นนำ อาทิ การสัมมนา “การบริหารทรัพยากรบุคคลในรูปแบบโฮลดิ้ง คอมปานี (Holding Company)” การดำเนินธุรกิจในรูปแบบเทรดดิ้ง คอมปานี (Trading Company)” รวมทั้งจัดการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันและมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับรองรับธุรกิจใหม่ในอนาคต

ความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของพนักงาน

พนักงานได้รับทราบโดยทั่วกันถึงกลยุทธ์การยุติธุรกิจสังกะสีในกระบวนการผลิตแบบเดิมไปสู่การลงทุนในธุรกิจใหม่ และแผนการลดกำลังพลในทุกสำนักงาน ตลอดช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนธุรกิจ พีดีไอตระหนักดีถึงผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพนักงาน จึงใส่ใจและดูแลพนักงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นเพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างรอบคอบและมีความปลอดภัย พีดีไอยึดมั่นต่อนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยขององค์กรตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัดทั้งในเชิงการป้องกัน การแก้ไขและบริหารสถานการณ์ ซึ่งเป็นมาตรการในระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (OSHAS/TIS 18001)

เป็นที่น่ายินอย่างยิ่ง ในปี 2559 ไม่พบว่าพนักงานมีอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานและไม่มีพนักงานเจ็บป่วยจากโรคเนื่องจากการทำงาน พนักงานพีดีไอสามารถรักษามาตรฐานการปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพและยึดถือหลักความปลอดภัยและอาชีวอนามัยเป็นอย่างดี นอกจากนี้พนักงานยังได้เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมตามแผนงานประจำปี ดังนี้

จำนวนพนักงานที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.)

ระดับพนักงาน กรุงเทพ ตาก ระยอง แม่สอด
บริหาร 1 2 0 0
จัดการ 0 3 3 1
บังคับบัญชา 2 6 2 4
ปฏิบัติการ 2 0 4 4
รวม​(คน) 5 11 9 9
จำนวนพนักงานทั้งหมด(คน) 71 464 84 59
ร้อยละต่อจำนวนพนักงานทั้งหมด 7.0 2.4 10.7 15.2

กิจกรรมความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของพีดีไอในสำนักงานต่างๆ

โครงการ/ การอบรม ผลที่ได้รับ สำนักงาน
1.ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากยานพาหนะ - พนักงานขับขี่ยานพาหนะเป็นไปตามแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย
- อุบัติเหตุจากยานพาหนะเป็นศูนย์
พีดีไอ- แม่สอด
พีดีไอ- ตาก
2.การจัดการดีเด่นด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยประจำหน่วยงาน ต่อเนื่องจากปี 2558 - แต่ละหน่วยงานมีการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยภายในหน่วยงานตนเอง
- พนักงานมีส่วนร่วมในการป้องกันอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน
- ได้รับรางวัลสถานประกอบดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานระดับประเทศต่อเนื่องเป็นปีที่ 9
พีดีไอ- แม่สอด
พีดีไอ- ตาก
พีดีไอ-ระยอง
3.รณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน และดำเนินโครงการข้อเสนอแนะด้านคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม -พนักงานและผู้รับเหมามีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย รวมทั้งมีส่วนร่วมในการจัดการคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม พีดีไอ- แม่สอด
พีดีไอ- ตาก
พีดีไอ-ระยอง
4.อบรม “การดับเพลิงขั้นต้นและทีมพนักงานผจญเพลิง” -พนักงานสามารถใช้อุปกรณ์ในการดับเพลิงขั้นต้นเมื่อพบเจอเหตุการณ์เพลิงไหม้
-พนักงานสามารถเข้าร่วมกับทีมควบคุมเพลิงได้
พีดีไอ- แม่สอด
พีดีไอ- ตาก
5.อบรม “การบำรุงรักษารถยกและการขับรถยกอย่างปลอดภัยและถูกวิธี -พนักงาน สามารถใช้รถยกได้อย่างถูกวิธี –พนักงานสามารถบำรุงรักษารถยกเบื้องต้น เพื่อลดการสูญเสียเวลาและ และทรัพย์สิน พีดีไอ- ตาก
6.อบรม “การช่วยชีวิตและปฐมพยาบาลเบื้องต้น” พนักงานโดยเฉพาะทีมช่วยชีวิตสามารถปฐมพยาบาลผู้ประสบภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์ภายในหน่วยงานของตนเอง พีดีไอ- แม่สอด
พีดีไอ- ตาก
7.อบรม “คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีว- อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน” -เป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย
-เพื่อให้คณะกรรมการได้เข้าใจบทบาทและความรับผิดชอบในการดูแลพนักงานให้ปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย
พีดีไอ- แม่สอด
8.อบรม “ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวไฟฟ้า” -พนักงานมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมต่อการป้องกันตนเองเมื่อปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับไฟฟ้า
-พนักงานสามารถช่วยชีวิตและให้การปฐมพยาบาลผู้ประสบภัยได้
พีดีไอ- แม่สอด
พีดีไอ- ตาก
9.อบรม “ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร” พนักงานมีความรู้ความเข้าใจในการป้องกันความเสี่ยงเมื่อทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พีดีไอ- แม่สอด
พีดีไอ- ตาก
พีดีไอ-ระยอง
10.การซ้อมหนีไฟในอาคารสูง -พนักงานปฏิบัติอย่างถูกวิธีหากเกิดกรณีไฟไหม้ในอาคารสูง
-สามารถใช้อุปกรณ์การดับเพลิงได้อย่างถูกต้องในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ
พีดีไอ-กรุงเทพ

สถิติความปลอดภัย

ดัชนีชี้วัด หน่วยวัด พีดีไอ-กรุงเทพ พีดีไอ-ตาก* พีดีไอ-ระยอง พีดีไอ-แม่สอด
2557 2558 2559 2557 2558 2559 2557 2558 2559 2557 2558 2559
อัตราความถี่ของการบาดเจ็บ จำนวนครั้งที่หยุดงานต่อ1 ล้านชั่วโมง-คน 0.00 0.00 0.00 0.89 0.90 0.00 3.52 0.00 0.00 0.00 0.00 0.00
อัตราความรุนแรงของการบาดเจ็บ จำนวนวันที่หยุดงานต่อ 1 ล้านชั่วโมง-คน 0.00 0.00 0.00 16.04 36.9 0.00 10.57 0.00 0.00 0.00 0.00 0.00
จำนวนพนักงาน คน 76 74 71 532 516 464 94 87 84 200 196 59

*จำนวนพนักงาน หมายถึง พนักงานและลูกจ้างของพีดีไอ